ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ กำลังพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นักวิเคราะห์ชี้ว่าประเทศมหาอำนาจของโลกมีแนวทางปฏิบัติอยู่สองแนวทางใหญ่ที่แตกต่างกัน คือ สหรัฐฯ อาศัยภาคเอกชนเร่งพัฒนาวัคซีนและมุ่งเก็บไว้ใช้เองในประเทศ ขณะที่จีนกับรัสเซียใช้หน่วยงานของรัฐบาลพัฒนาวัคซีนและแสดงความเต็มใจที่จะแจกจ่ายแบ่งปันให้กับประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
- สหรัฐฯ: ฝันร้ายทางภูมิศาสตร์การเมือง
คุณเดวิด ฟิดเลอร์ นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพระดับโลกของ Council on Foreign Relations กล่าวว่า โรคระบาดใหญ่และการเร่งพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดการแข่งขันสร้างอำนาจอิทธิพลในรูปแบบใหม่ ซึ่งดึงเรื่องสุขภาพและเภสัชกรรมเข้ามาเป็นปัจจัยอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับสหรัฐฯ นั้น แนวคิดที่มีอยู่ในปัจจุบันได้สร้างสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น "ฝันร้ายสำหรับภูมิศาสตร์การเมือง" เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในเกมที่ว่านี้ตั้งแต่ต้น ทั้งยังเสริมว่า โรคระบาดใหญ่นี้เป็นเหมือนพลังเร่งหนุนที่ทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ยิ่งลดน้อยถอยลง
ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ยอมเข้าร่วมกับกว่า 170 ประเทศทั่วโลกในแผนงานที่มีชื่อว่า Covax ซึ่งองค์การอนามัยโลกสนับสนุนอยู่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแจกจ่ายวัคซีนหลายพันล้านชุดให้กับประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้นแล้ว สหรัฐฯ ยังไม่มีแผนที่จะแบ่งปันวัคซีนซึ่งบริษัทเอกชนภายใต้โครงการของตนพัฒนาขึ้นให้กับใครด้วย
- จีน: ผลิตวัคซีนด้วยกลไกรัฐเพื่อการต่อรองทางการทูต
จีนกับรัสเซียซึ่งอาศัยกลไกของรัฐเร่งพัฒนาวัคซีนได้ ตั้งเป้าว่าจะผลิตให้พอใช้สำหรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยจีนได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อการเข้าถึงวัคซีนก่อนอย่างรวดเร็วในภูมิภาคต่าง ๆ ที่จีนแข่งขันช่วงชิงการนำอยู่กับสหรัฐฯ อย่างเช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัย Dukes ในสหรัฐฯ ได้พบว่า ในขณะที่ประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูงส่วนใหญ่ได้ลงนามในสัญญาจะซื้อวัคซีนไปใช้ในประเทศถึงกว่า 3,800 ล้านชุด รวมทั้งยังมีสิทธิ์ซื้ออีก 5,000 ล้านชุดนั้น ผู้คนหลายพันล้านคนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องรอถึงปี 2024 กว่าจะมีวัคซีนใช้
อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งกำลังทดลองวัคซีนในขั้นสุดท้ายอยู่ห้าชนิด ได้เสนอวัคซีนดังกล่าวให้กับภูมิภาคซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของตน และได้ร่วมมือกับหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และบราซิล เพื่อทดลองวัคซีนด้วย นอกจากนั้นรัฐบาลกรุงปักกิ่งยังเสนอเงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์ให้ประเทศที่มีปัญหาด้านการเงินและไม่สามารถซื้อได้ด้วยตนเอง
รัฐบาลกรุงปักกิ่งเคยยืนยันว่าจะไม่ใช้วัคซีนเป็นข้อต่อรองด้านการทูต แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนก็ได้แสดงท่าทีว่าวัคซีนมีความเชื่อมโยงกับความร่วมมือที่ใกล้ชิด ซึ่งนับเป็นการสะท้อนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของจีน
- รัสเซีย: แผนงานโฆษณาชวนเชื่อยุคโควิด
ในส่วนของรัสเซีย "การทูตโดยวัคซีน" ดูจะเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของประธานาธิบดีปูตินเพื่อนำรัสเซียกลับคืนสู่ความเป็นมหาอำนาจของโลกอีกครั้งหนึ่ง และขณะนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลกรุงเครมลินก็อ้างว่าได้รับคำสั่งซื้อขั้นต้นจาก 50 ประเทศสำหรับวัคซีน Sputnik 5 รวม 1,200 ล้านชุดแล้ว และกำลังเจรจากับหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน คาซัคสถาน และฮังการี เพื่อความร่วมมือเพิ่มเติมเช่นกัน
คุณกริกอรี โกโรซอฟ นักวิเคราะห์การเมืองของมหาวิทยาลัย European University ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ชี้ว่ารัสเซียพยายามใช้วิธีโน้มน้าวด้วย soft power แต่ก็อาจจะมองได้ว่าวัคซีนนับเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ในแผนงานโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียนั่นเอง
- เครื่องต่อรองที่ทรงพลังที่สุดในปัจจุบัน
สำหรับสหรัฐฯ นโยบายเรื่องการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ แต่อาจารย์เคนดัล ฮอยท์ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Dartmoth คาดว่า หลังจากที่โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งแล้ว เขาคงจะพยายามหาวิธีทำงานร่วมกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น อาจจะด้วยการกลับเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศเรื่องวัคซีน หรือทำความตกลงกับประเทศต่าง ๆ แบบรายประเทศ
อาจารย์ฮอยท์เชื่อว่า ประเด็นเรื่องวัคซีนโควิด-19 นี้ดูจะเป็นเครื่องต่อรองที่ทรงพลังที่สุดซึ่งประเทศต่าง ๆ มีอยู่ในปัจจุบัน