บริษัทใหญ่จากชาติตะวันตกหลายแห่งยังเดินหน้าทำธุรกิจในรัสเซียต่อไป แม้จะมีหลายร้อยบริษัทที่ประกาศยุติการดำเนินธุรกิจในแดนหมีขาว จากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่คลี่คลายลง ตามรายงานของเอพี
ระหว่างที่ธุรกิจจำนวนมากจากฝั่งตะวันตกประกาศยุติการทำธุรกิจในรัสเซียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาจากเหตุรัสเซียบุกยูเครน อาทิ บริษัทน้ำมันรายใหญ่อย่างบีพีและเชลล์ ที่เดินออกจากแผนการลงทุนมหาศาลในรัสเซียไปจากสถานการณ์ยูเครนที่รุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับแมคโดนัลด์ และสตาร์บัคส์ ที่สั่งปิดสาขาในรัสเซียชั่วคราวจากวิกฤตยูเครน
อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทใหญ่ๆ เช่น แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ด เบอร์เกอร์คิง ยังเปิดทำการ บริษัทยา อีไล ลิลลี ยังจำหน่ายยาต่างๆ และบริษัทเป๊ปซี ยกเลิกการขายน้ำอัดลมในรัสเซีย แต่ยังคงจำหน่ายนมและอาหารเด็กที่นั่นอยู่
เหตุที่บริษัทต่างๆ ยังคงดำเนินกิจการในรัสเซีย ระบุว่า พวกเขามีเจ้าของแฟรนไชส์และพนักงานที่ต้องดูแล และไม่ต้องการลงโทษรัสเซียด้วยการนำอาหารและยาออกไปจากประเทศ อีกทั้งยังเป็นเรื่องยากที่จะดึงระบบซอฟต์แวร์หรือระบบการเงินจากธุรกิจชาติตะวันตกออกไป เพราะมันไม่ง่ายที่จะวางระบบใหม่มาทดแทน
แมรี เลิฟลี นักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน Peterson Institute for International Economics ในกรุงวอชิงตัน เห็นว่า เรื่องนี้เป็นการคำนวณผลทางธุรกิจ ฝั่งที่ยังอยู่ มองถึงรายได้ที่เกิดขึ้นในรัสเซีย และบริการที่ให้ในประเทศเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่? และเมื่อเวลาผ่านไปการคำนวณทางธุรกิจเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และว่าการคว่ำบาตรรัสเซียมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อยาวนานเช่นเดียวกับกระแสโจมตีธุรกิจเหล่านี้ที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย
ธุรกิจบางอย่างในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับความสนใจในวงกว้าง อย่าง ภาคการเกษตร สามารถหลุดพ้นจากเรดาร์และหลบเลี่ยงกระแสโจมตีในสื่อสังคมออนไลน์ไปได้ แตกต่างจากแบรนด์ดังอย่างแมคโดนัลด์ ยูนิโคล่ และสตาร์บัคส์ ที่ตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจเป็นการชั่วคราวในสัปดาห์นี้
ในยุคของกระแสตื่นตัวของผู้บริโภคและพนักงานเกี่ยวกับท่าทีของบริษัทในสังคมและจริยธรรมขององค์กร ผู้ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องรัสเซียกำลังเอาชื่อเสียงขององค์กรไปอยู่ในความเสี่ยง อย่างกรณีของ ยูนิโคล่ ที่ซีอีโอให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิคเคอิในวันอังคารว่า ยังเปิดกิจการ 50 สาขาในรัสเซียต่อ เพราะเสื้อผ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต ก่อนจะประกาศปิดสาขาในอีก 2 วันถัดมา ซึ่งในมุมมองของเลิฟลี เห็นว่านี่คือผลเสียขององค์กรที่เลือกข้าง
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ยังดำเนินธุรกิจต่อในรัสเซีย ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างทาง ซิตี้กรุ๊ป ที่ระบุเมื่อวันพุธว่าการขายสาขาในรัสเซีย 11 แห่งจะเกิดขึ้นได้ยากเพราะเศรษฐกิจรัสเซียถูกตัดขาดจากระบบการเงินโลก ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นทางบริษัทคงต้องดำเนินธุรกิจได้อย่างจำกัด ในการช่วยเหลือลูกค้าภาคธุรกิจของสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการในรัสเซีย
ส่วนแอมะซอน ที่มีลูกค้าระบบคลาวด์คอมพิวติ้งมากที่สุดอยู่ที่รัสเซีย ต้องยุติการรับลูกค้าใหม่ในรัสเซีย รวมทั้งเตรียมระงับระบบการส่งสินค้าของแอมะซอนไปยังรัสเซียด้วย
อีกด้านหนึ่งบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์เบอร์เกอร์คิง ระบุว่า ต้องเปิดทำการ 800 สาขาในรัสเซียต่อไป เพราะข้อบังคับในเงื่อนไขสัญญาแฟรนไชส์ เช่นเดียวกับเจ้าของเคเอฟซีและพิซซ่าฮัท ที่ประกาศปิด 70 สาขาที่ดำเนินกิจการโดยบริษัทยัมแบรนด์โดยตรง แต่อีกเกือบ 1,000 สาขาของเคเอฟซี และอีก 50 สาขาของพิซซ่าฮัทยังเปิดให้บริการอยู่ ซึ่งแตกต่างจากกรณีของแมคโดนัลด์ ที่สั่งปิดเกือบ 850 สาขาในรัสเซียได้ง่าย เพราะกว่า 80% ดำเนินกิจการโดยบริษัทโดยตรง
ส่วนเครือโรงแรมใหญ่ ได้รับแรงกระแทกจากมาตรการคว่ำบาตรนี้ด้วยเช่นกัน อย่างเครือแมริออตต์ ที่ระบุว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปิดโรงแรมในรัสเซียหรือไม่ เพราะมีเงื่อนไขของสัญญาที่ดำเนินกิจการโดยบริษัทอื่นในรัสเซีย
บางธุรกิจเลือกอยู่ต่อในรัสเซีย เพราะมองว่าสินค้าและบริการของบริษัทเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต อย่างกรณีของอีไล ลิลลี ที่จำหน่ายยาให้ผู้ป่วยมะเร็ง เบาหวาน และโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันร่างกายในรัสเซียต่อไป และทางผู้บริหารยืนยันว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและสหภาพยุโรปไม่มีผลต่อการจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์
ส่วนเป๊ปซี ยุติการจำหน่ายน้ำอัดลม แต่ยังจำหน่ายนม นมผงเด็ก และอาหารเด็กในรัสเซีย เช่นเดียวกับยูนิลิเวอร์ที่ยังเดินหน้าขายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งอาหาร ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในรัสเซียต่อไป เพียงแต่จะไม่มีการโฆษณาหรือส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียเพิ่มเติม
นอกจากนี้ บางบริษัท ยึดถือความเป็นอยู่ของพนักงานเป็นที่ตั้งในการดำเนินกิจการต่อในรัสเซียหรือไม่ตัดสัมพันธ์ไปเสียหมด อย่างกรณีของสตาร์บัคส์ ที่เริ่มแรกแสดงความกังวลต่อพนักงาน 2,000 คนในรัสเซีย ก่อนจะเปลี่ยนมาปิดกิจการชั่วคราวไป แต่ยังจ่ายเงินพนักงานอยู่ ส่วนบริติชอเมริกันโทแบคโค ระบุในวันพุธว่าจะดำเนินกิจการต่อไป เพื่อดูแลพนักงาน 2,500 คนในรัสเซีย
ปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติมากกว่า 300 บริษัทที่รูดม่านระงับการดำเนินกิจการในรัสเซีย ตามข้อมูลของของมหาวิทยาลัยเยล ครอบคลุมบริษัทเทคโนโลยีอย่างแอปเปิลและกูเกิล ผู้ผลิตยานยนต์ต่างชาติระงับการผลิตในรัสเซีย ค่ายหนังในฮอลลีวู้ดระงับการนำหนังใหญ่เข้าฉาย หรือแม้แต่สตรีมมิ่งดังอย่างเน็ตฟลิกซ์ ก็หยุดระบบสตรีมมิ่งในรัสเซีย ซึ่งบางบริษัทมีปัจจัยมาจากการแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐบาลชาติตะวันตกในการคว่ำบาตรรัสเซีย ขณะที่บางบริษัทเป็นผลมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่มีผลสืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอีกทอดหนึ่ง
ที่มา: เอพี