ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่าตนต้องการข้อตกลงที่สำคัญและยิ่งใหญ่กับเกาหลีเหนือ ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้นำเกาหลีเหนือยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดก่อนที่จะผ่อนคลายมาตรการลงโทษ
แต่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐเองได้ชี้ว่า เท่าที่ผ่านมาเกาหลีเหนืออาศัยประโยชน์จากการใช้วิธีสร้างวงจรของการยั่วยุ - การลดความตึงเครียด - การเจรจา - และกลับไปเป็นการยั่วยุอีกครั้ง เพื่อพยายามให้ได้การผ่อนปรนจากสหรัฐโดยไม่ต้องลดอาวุธนิวเคลียร์ของตน
และขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Leif-Eric Easley อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัย Ewha Womans ในกรุงโซล มองว่าเป้าหมายหลักของสหรัฐน่าจะเป็นการมีข้อตกลงซึ่งมีแผนที่นำทางไปสู่เป้าหมาย รวมทั้งมีกลไกเพื่อตรวจพิสูจน์เรื่องการปลดอาวุธอยู่เคลียร์อย่างเป็นขั้นตอน และมีเงื่อนไขให้สามารถนำมาตรการลงโทษกลับมาใช้กับเกาหลีเหนือได้อีกนั้น ทางเกาหลีเหนือเองก็ได้ย้ำหลายครั้งว่าตนจะไม่ยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์แต่เพียงฝ่ายเดียว ก่อนที่จะมีการผ่อนผันมาตรการลงโทษอย่างสำคัญจากสหรัฐ
เมื่อช่วงต้นปีนี้ เป้าหมายสำคัญของเกาหลีเหนือคือการยกเลิกมาตรการลงโทษขององค์การสหประชาชาติซึ่งสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจของตน แต่ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเปียงยางหันมาแสดงท่าทีว่าต้องการหลักประกันด้านความมั่นคง ซึ่งรวมทั้งต้องการให้ยุติการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ หรือให้มีการปรับการวางกำลังทหารสหรัฐในภูมิภาคดังกล่าวด้วย
เมื่อเดือนกันยายน ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ปลด นายจอห์น โบลตัน
ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแนวทางสายเหยี่ยวผู้มีท่าทีแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือ และกล่าวว่าตนต้องการวิธีใหม่สำหรับการเจรจา
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครทราบว่าวิธีใหม่ของผู้นำสหรัฐนี้คืออะไร และเกาหลีเหนือเองก็เข้าสู่การเจรจารอบใหม่นี้โดยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น หลังจากที่ได้ทดลองขีปนาวุธพิสัยใกล้เพิ่มขึ้น 11 ครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งรวมถึงระบบอาวุธบางอย่างที่สามารถคุกคามกองกำลังของสหรัฐและของประเทศพันธมิตรในเอเชียได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีเหนือได้ทดลองขีปนาวุธพิสัยกลางซึ่งสามารถยิงจากเรือดำน้ำได้เมื่อวันพุธด้วย
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า จากปัญหาการเมืองภายในประเทศขณะนี้ อาจกดดันประธานาธิบดีทรัมป์ให้ต้องรีบทำความตกลงกับเกาหลีเหนือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจก่อนจะเข้าสู่ปีเลือกตั้งในปีหน้า
แต่อาจารย์ Bong Young-Shik จากสถาบันการศึกษาเกาหลีเหนือของมหาวิทยาลัย Yonsei ในเกาหลีใต้ กลับมองว่าเรื่องดังกล่าวอาจไม่สำคัญเท่าใดนัก เพราะนโยบายต่างประเทศมักไม่ใช่ประเด็นชี้ขาดสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ