ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูเอ็นเร่งจัดประชุมฉุกเฉินหลัง 'เกาหลีเหนือ' ทดสอบขีปนาวุธที่อาจโจมตีถึงฐานทัพอเมริกันบนเกาะกวม!


A TV news program shows a file image of North Korean leader Kim Jong Un at the Seoul Railway Station in Seoul, South Korea, May 14, 2017.
A TV news program shows a file image of North Korean leader Kim Jong Un at the Seoul Railway Station in Seoul, South Korea, May 14, 2017.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:19 0:00

คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเตรียมจัดประชุมฉุกเฉินในวันอังคารนี้ หลังจากเกาหลีเหนือเพิ่งทดสอบจรวดขีปนาวุธครั้งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าอาจเป็นขีปนาวุธแบบใหม่ที่มีพิสัยทำการ 4,500 กม.

สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขอให้มีการประชุมฉุกเฉินว่าด้วยการทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือซึ่งเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ โดยรายงานระบุว่าขีปนาวุธดังกล่าวถูกยิงขึ้นไปในระดับความสูงกว่าครั้งก่อนๆ และไปตกในทะเลญี่ปุ่น

คาดว่าอาจเป็นจรวดเชื้อเพลิงเหลวแบบสองตอนรุ่นใหม่ ที่สามารถเดินทางได้ไกลถึง 4,500 กม.

แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุว่า การทดสอบครั้งนี้คือสัญญาณว่าทุกประเทศควรเพิ่มมาตรการลงโทษที่รุนแรงขึ้นต่อเกาหลีเหนือ

ทางด้านทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ Nikki Haley กล่าวว่า “ตนเชื่อว่าประชาคมโลกจะร่วมแสดงให้เกาหลีเหนือเห็นว่า นี่เป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ และสหรัฐฯ จะใช้มาตรการลงโทษที่เข้มงวดยิ่งขึ้นต่อเกาหลีเหนือ”

และว่า “การทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุด แสดงให้เห็นว่าการเจรจาในระดับผู้นำประเทศเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ จะไม่เกิดขึ้น” โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวไว้ว่า “ตนจะรู้สึกเป็นเกียรติหากได้พบกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม”

A South Korean army soldier walks by a TV news program showing a file image of missiles being test-launched by North Korea, at the Seoul Railway Station in Seoul, South Korea, May 14, 2017.
A South Korean army soldier walks by a TV news program showing a file image of missiles being test-launched by North Korea, at the Seoul Railway Station in Seoul, South Korea, May 14, 2017.

ทางการจีนออกมาขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในภูมิภาคนี้ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีนแสดงจุดยืนต่อต้านการทดสอบขีปนาวุธครั้งนี้ โดยระบุว่าเป็นการละเมิดกฎข้อบังคับของสหประชาชาติ

ส่วนประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุม “โครงการหนึ่งถนน – หนึ่งวงแหวน” ของจีน ที่กรุงปักกิ่ง แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ และความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี

ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้ออกมาประณามการทดสอบจรวดขีปนาวุธครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือ ว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และละเมิดกฎข้อบังคับของสหประชาชาติ

รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น คุณ Tomomi Inada แถลงว่า “การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในวันอาทิตย์ คือภัยคุกคามร้ายแรงต่อญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นจะร่วมทำงานกับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการทดสอบขีปนาวุธครั้งนี้"

"ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นจรวดรุ่นใหม่ที่ถูกยิงขึ้นไปในวงโคจรที่ระดับสูงเกิน 2,000 กม. และอยู่ในอากาศนาน 30 นาที ก่อนที่จะตกลงในทะเลญี่ปุ่น ห่างจากชายฝั่งเกาหลีเหนือราว 400 กม.”

Map showing range of missile recently launched by North Korea.
Map showing range of missile recently launched by North Korea.

ทางด้านคุณ David Wright นักวิเคราะห์แห่งองค์กร Union of Concerned Scientists กล่าวกับ VOA ว่า “หากการทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุดนี้ กระทำในระดับความสูงปกติ อาจเดินทางได้ไกลถึง 4,500 กม. ซึ่งหมายความว่าจะอยู่ในพิสัยที่สามารถคุกคามดินแดนในการปกครองของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือไม่เคยทำได้มาก่อน”

เกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิก คือหนึ่งในดินแดนในการปกครองของสหรัฐฯ และมีฐานทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่ อยู่ห่างจากเกาหลีเหนือราว 3,400 กม. ซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าจรวดที่ดีที่สุดที่เกาหลีเหนือมีอยู่นั้นคือ The Musudan สามารถโจมตีได้ในระยะไกลสุดคือ 3,000 กม.

อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุด ทำให้เชื่อว่าเวลานี้เกาหลีเหนืออาจมีอาวุธที่สามารถโจมตีได้ถึงเกาะกวม หรืออาจไปได้ไกลกว่านั้น!

ขณะเดียวกัน ทางทำเนียบขาวได้มีแถลงการณ์ว่า “ดูเหมือนการทดสอบจรวดขีปนาวุธครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือ เกิดขึ้นใกล้กับอาณาเขตของรัสเซียมากกว่าของญี่ปุ่น ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์คิดว่ารัสเซียคงจะไม่ชอบใจกับเรื่องนี้”

นักวิเคราะห์มองว่าคำแถลงดังกล่าวของทำเนียบขาว คือการเรียกร้องขอความร่วมมือจากรัสเซีย ในการต่อต้านภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

(ผู้สื่อข่าว Steve Herman รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG