เกาหลีเหนือเพิ่งจัดการประชุมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเมื่อเร็วๆ นี้ที่เมืองต้าเหลียนในประเทศจีน ซึ่งนักธุรกิจหลายคนที่เข้าร่วมประชุม แสดงความทึ่งและประทับใจต่อการนำเสนอโครงการของเกาหลีเหนือ ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า เวลานี้เกาหลีเหนืออาจกำลังเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้ผู้นำ Kim Jong Un
นับตั้งแต่ผู้นำ Kim Jong Un ขึ้นปกครองเกาหลีเหนือเมื่อ 3 ปีก่อน บรรดานักวิเคราะห์ต่างจับตามองว่าผู้นำรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากสวิสเซอร์แลนด์ผู้นี้ จะสามารถรวมศูนย์อำนาจการเมืองและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจเกาหลีเหนือ ซึ่งหมายถึงปากท้องของประชาชนได้หรือไม่
ที่ผ่านมา แม้ผู้นำ Kim Jong Un ไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และยังไม่มีท่าทีว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน แต่เริ่มมีสัญญาณของการปฏิรูป ศก.ให้เห็นบ้างแล้ว โดยเฉพาะการเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนพัฒนาเขตท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติ ตามแนวชายฝั่ง Wonsan และหุบเขา Kumgang
ในการประชุมเรื่องการลงทุนจากต่างชาติที่รัฐบาลเกาหลีเหนือเป็นเจ้าภาพเมื่อเร็วๆนี้ที่เมืองต้าเหลียนในประเทศจีน มีนักธุรกิจเกาหลีเข้าร่วมราว 200 คน ผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่ระบุถึงความประทับใจต่อโครงการลงทุนในเกาหลีเหนือ ซึ่งการนำเสนอนั้นมิได้เป็นไปในลักษณะคุยโอ่ไร้เหตุผลเหมือนที่เคยเป็นมา นอกจากนี้ยังมีช่วงพักตอบคำถามนักลงทุนด้วย โดยเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือที่เป็นผู้นำโครงการได้พยายามรับรองกับนักลงทุนต่างชาติว่า เกาหลีเหนือกำลังเปิดประตูกว้างเพื่อรับนักลงทุนเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยวของประเทศ
คุณ Kwon Tae-jin นักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบัน GSnJ ในกรุงโซล เกาหลีใต้ ระบุว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือยังได้ปรับแก้ข้อกำหนดบางอย่างด้านการเกษตร เช่นอนุญาตให้กลุ่มบุคคลขนาดเล็กสามารถบริหารจัดการที่ดินทำการเกษตร และเก็บเอาผลผลิตส่วนใหญ่จากที่ดินนั้นไว้ได้ ซึ่งจีนเคยนำวิธีเดียวกันนี้มาปรับใช้ในช่วงปฏิรูปเศรษฐกิจปี ค.ศ 1987
ด้านศาสตราจารย์ Yang Moo-jin แห่งมหาวิทยาลัย North Korea Studies เชื่อว่าการปฏิรูปศก.คือเป้าหมายอันดับหนึ่งของผู้นำ Kim Jong Un และการที่ดูเหมือนมีความก้าวหน้าไปมากในเรื่องนี้ ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าผู้นำ Kim Jong Un อาจสามารถรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองของเกาหลีเหนือไว้ได้แล้วเช่นกัน ศาสตราจารย์ Yang ระบุว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะผลักดันมาตรการต่างๆที่กล่าวมาให้เกิดขึ้นได้ในเกาหลีเหนือ หากว่าไม่สามารถควบรวมอำนาจบริหารให้มั่นคงได้
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติยังคงกังวลต่อการลงทุนในเกาหลีเหนือไม่น้อย เพราะประวัติความไม่แน่ไม่นอนและการกดขี่ของรัฐบาลเปียงยาง รวมทั้งข้อจำกัดอื่นๆที่เกี่ยวกับการลงทุน ตัวอย่างเช่น บริษัทโทรคมนาคม Orascom ของอียิปต์ ที่ทำสัญญาถือหุ้นในบริษัทเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในเกาหลีเหนือ แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้นำเงินส่วนแบ่งจากรายได้ออกนอกประเทศ
ถึงกระนั้น ศาสตราจารย์ Yang Moo-jin แห่งมหาวิทยาลัย North Korea Studies เชื่อว่าประเทศต่างๆ ควรเข้าร่วมในโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือครั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการประสานความสัมพันธ์และเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ
ศาสตราจารย์ Yang ชี้ว่าเมื่อเกาหลีเหนือเกิดความเชื่อมั่นผ่านความร่วมมือต่างๆทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่จะขยายความร่วมมือนั้นไปยังด้านอื่นๆ รวมทั้งการโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์ที่เป็นปัญหาคาราคาซังมานาน
รายงานจาก Brian Padden ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล