อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ นิกกี เฮลีย์ ประกาศลงสมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2024 ซึ่งหมายความว่าเธอจะต้องแข่งขันกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีคะแนนนิยมนำหน้าคู่แข่งคนอื่น ๆ ในการสำรวจล่าสุดของ Reuters/Ipsos
เฮลีย์ เปิดตัวทางวิดีโอที่เผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ ในวันอังคาร โดยกล่าวว่า "ดิฉัน นิกกี เฮลีย์ ผู้ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ" ซึ่งถือเป็นผู้สมัครคนที่สองต่อจากทรัมป์ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ
เธอกล่าวว่า "ถึงเวลาแล้วของผู้นำรุ่นใหม่ ผู้ที่จะทำให้เกิดความรับผิดชอบด้านการคลังอีกครั้ง รวมทั้งปกป้องพรมแดนและสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศของเรา ความภาคภูมิใจของเรา และวัตถุประสงค์ของเรา"
และว่า "จีนกับรัสเซียกำลังเดินหน้า พวกเขาคิดว่าจะรังแกเราได้ พวกท่านควรรับรู้สิ่งที่เกี่ยวกับตัวดิฉัน คือดิฉันไม่ยอมแพ้ต่ออันธพาล และเมื่อคุณเตะโต้กลับไป มันจะยิ่งเจ็บกว่าเดิมเมื่อคุณใส่ส้นสูง"
เฮลีย์ ดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติระหว่างปี ค.ศ. 2017-2018 ในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา โดยคาดว่า เธอจะกล่าวปราศรัยครั้งแรกหลังประกาศตัวลงสมัคร ในวันพุธนี้ที่รัฐเซาท์แคโรไลนาด้วย
นิกกี เฮลีย์ วัย 51 ปี เป็นบุตรสาวของผู้อพยพชาวอินเดียซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายเสื้อผ้าในเขตชนบทของรัฐเซาท์แคโรไลนา เธอเริ่มเป็นที่รู้จักภายในพรรครีพับลิกันในฐานะผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่สามารถพูดถึงประเด็นเรื่องเพศสภาพและสีผิวได้อย่างหนักแน่นน่าเชื่อถือ
ที่ผ่านมา เฮลีย์พยายามสร้างภาพพจน์ของเธอในฐานะผู้ปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในต่างประเทศ โดยในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งทูตอเมริกันประจำยูเอ็น เธอได้ช่วยถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่านซึ่งลงนามในสมัยประธานาธิบดีโอบามา แต่ไม่เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาพรรครีพับลิกัน
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความเห็นคนอเมริกันที่จัดทำโดย Reuters/Ipsos ระหว่างวันที่ 6-13 ก.พ. และเผยแพร่ในวันอังคาร ชี้ให้เห็นว่า มีผู้นิยมพรรครีพับลิกันเพียง 4% ที่สนับสนุนเฮลีย์ ขณะที่ ทรัมป์ได้เสียงสนับสนุนมากที่สุดที่ 43% รองลงมาคือ ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา รอน เดอซานติส ที่ 31%
ทั้งนี้ คาดว่าไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้จะมีผู้ประกาศตัวลงสมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกหลายคน ซึ่งอาจรวมถึง อดีตรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์, วุฒิสมาชิกทิม สก็อตต์ จากรัฐเซาท์แคโรไลนา และผู้ว่าการรัฐนิวแฮมป์เชอร์ คริส ซูนูนู เป็นต้น
- ที่มา: รอยเตอร์