พาดหัวข่าวของเอพี ระบุว่า Holiday season lights a bright spot amid pandemic resurgence หมายความว่า การประดับไฟช่วงเทศกาลวันหยุดสว่างไสวท่ามกลางการกลับมาของโรคระบาด
ข่าวนี้เล่าถึงบรรยากาศการประดับไฟช่วงเทศกาลทั่วอเมริกาที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 และยิ่งใหญ่ตระการตากว่าปีก่อนๆ ทั้งบ้านเรือนและภาคธุรกิจทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อจัดไฟประดับตกแต่งช่วงเทศกาลเพื่อส่งต่อความสุขให้ผู้คนในช่วงเวลานี้
การประดับไฟตามอาคารบ้านเรือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลวันหยุดส่งท้ายปีในอเมริกา โดยข้อมูลจากหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ (Library of Congress) ระบุว่า ในปี ค.ศ. 1923 ประธานาธิบดีแคลวิน คูลิดจ์ (Calvin Coolidge) ได้ริเริ่มการประดับไฟต้นคริสต์มาสที่ทำเนียบขาว ด้วยหลอดไฟ 2,500 ดวง จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่ผู้คนขับรถตระเวนไปตามบ้านเรือนเพื่อชมการประดับไฟตามที่ต่างๆ เช่นเดียวกับการจัดไฟแบบมืออาชีพ ที่ยิ่งกว่าตระการตา ทั้งการจัดแผงไฟระยิบระยับ จัดแสดงไฟที่คลอไปกับเสียงเพลง และมีการประดับหุ่นและสิ่งของให้เข้ากับงานแสดงที่สร้างความฮือฮาให้กับผู้ชม
ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ได้ทำให้การจัดแสดงไฟทั่วอเมริกาคึกคักยิ่งขึ้น งานแสดงไฟช่วงเทศกาลผุดขึ้นมากมายตามฟาร์ม สวนสัตว์ หรือแม้แต่ลานจอดรถ เพราะการเดินชมการจัดแสดงไฟด้านนอกอาคาร หรือการขับรถชมไฟตามข้างทาง ต่างเป็นกิจกรรมที่ปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 ทั้งสิ้น
โดยเฉพาะการชมงานประดับไฟแบบ drive-through ซึ่งก็คือ การชมนิทรรศการประดับไฟช่วงคริสต์มาส โดยที่ผู้ชมขับรถผ่านจุดประดับไฟต่างๆในงาน เพราะสามารถซื้อตั๋วเข้าชมทางออนไลน์ และเข้าชมงานเหล่านี้ได้แบบไม่ต้องสัมผัสหรือเข้าใกล้ผู้คนมากนัก
งานประดับไฟแบบ drive-through ในยุคแรกเริ่มในอเมริกาแห่งหนึ่ง อยู่ที่เมืองวีลลิ่ง รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ซึ่งเริ่มต้นจากทางสวน Oglebay Park ไปขอให้เด็กนักเรียนมัธยมที่นั่นสร้างกรอบไม้ที่จัดเรียงไฟสวยงามตามเส้นทางของสวน เพื่อให้คนขับรถจักรยานยนต์ขับชมไฟตามเส้นทางได้ แต่ปัจจุบันสามารถหาชมงานเหล่านี้ได้ทั่วประเทศ ซึ่งอาจเป็นการชมไฟเพียงอย่างเดียว หรือมีการจัดจำหน่ายสินค้า อาหาร และเครื่องดื่มภายในงานด้วย
เดวิด เฟร็ด เจ้าของบริษัท Winterland ธุรกิจรับจัดงานไฟเทศกาลกว่า 195 แห่ง เปิดเผยว่า ปีนี้งานแสดงไฟแบบ drive-through หรือ การชมนิทรรศการประดับไฟช่วงคริสต์มาส โดยที่ผู้ชมขับรถผ่านจุดประดับไฟต่างๆในงาน ในรัฐนิวแฮมเชียร์และนครลาสเวกัส มีรถมาเข้าชมงานจัดแสดงไฟเพิ่มขึ้นกว่า 200% และในเทศกาลวันหยุดปีนี้ เขาประเมินว่า จะมีงานดูไฟในอเมริกาเพิ่มขึ้นราว 45% จากความสำเร็จของเทศกาลดูไฟในปีก่อน
ขณะที่บริษัท Extreme Lightscapes ที่รับจัดงานเทศกาลดูไฟในรัฐเท็กซัส ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดงานเทศกาลประดับไฟแบบประกอบเพลง พุ่งสูงถึง 500,000 ดอลลาร์ต่องานแล้ว เพราะทั้งภาคธุรกิจ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และทางการเขตปกครองท้องถิ่น ต่างต้องการจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยทำไปอีก
คำในข่าวสัปดาห์นี้ เสนอคำว่า cheer จากเนื้อหาในข่าวนี้ที่ว่า
The holiday season is shining brightly during the pandemic as businesses pour money into extravagant light shows to spread cheer.
หมายความว่า ในเทศกาลวันหยุดนี้ส่องแสงเจิดจ้าในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะภาคธุรกิจต่างทุ่มเงินไปกับการแสดงแสงสีสุดอลังการเพื่อส่งต่อความรื่นเริงออกไป
คำว่า cheer เป็นคำนาม แปลว่า เสียงร้องเชียร์ ความรื่นเริง หรือ ง่ายๆ ก็คล้ายๆ กับคำว่า ความสุข นั่นเอง
ดังนั้น วลีที่ว่า spread cheer ในข่าวนี้ จึงแปลได้ว่า ส่งต่อความรื่นเริงออกไป
คำว่า cheer ถ้าเป็นกริยา หมายถึง ส่งเสียงเชียร์ หรือ ให้กำลังใจ
ไปดูการใช้คำว่า cheer ที่แปลว่า ให้กำลังใจ ในประโยคกัน ตัวอย่างเช่น
The soccer team didn't make it to the final, so loyal fans tried to cheer them up by singing the team's anthem.
หมายความว่า เมื่อทีมฟุตบอลไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย บรรดาแฟนบอลที่ติดตามมาตลอดพยายามให้กำลังใจนักเตะด้วยการร้องเพลงประจำสโมสรฟุตบอล
มาต่อกันที่คำว่า cheerful เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า ที่มีความรื่นเริง สดใส
ไปดูการใช้คำนี้ในประโยคกัน ตัวอย่างเช่น
After her children visited her at the hospital, Wendy looks much more cheerful than yesterday.
หมายความว่า หลังจากที่ลูกๆของเธอมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล เวนดี้รู้สึกสดใสกว่าเมื่อวานนี้มาก
ส่วนคำว่า cheerfulness เป็นคำนาม แปลว่า ความร่าเริง
ไปดูการใช้คำนี้ในประโยคกัน ตัวอย่างเช่น
When Patrice gets back from work, she looks forward to the cheerfulness from her puppy Joey, and sometimes from Ben, her grumpy cat.
หมายความว่า เมื่อแพทริสกลับมาจากที่ทำงาน เธอเฝ้ารอที่จะเห็นความร่าเริงจากลูกสุนัขโจอี้ และจากเบน แมวขี้หงุดหงิดของเธอในบางครั้ง
ส่วนคำว่า cheers จะใช้ในโอกาส ชนเเก้วดื่มเฉลิมฉลอง เหมือนกับคำว่า ไชโย! เพื่อเป็นการฉลอง หรือแสดงความยินดี
ตัวอย่างเช่น Cheers to the coming new year. เอาไว้ พูดเวลา ยกเเก้วชน ต้อนรับปีใหม่ที่จะมาถึง จากนั้นก็จิบเครื่องดื่มในมือเบาๆ
มาเปิดรับศักราชใหม่ด้วยคำคมส่งท้าย จากโอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ (Oliver Wendell Holmes) ผู้พิพากษาศาลสูงอเมริกัน ในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งเคยกล่าวเอาไว้ว่า
To be seventy years young is sometimes far more cheerful and hopeful than to be forty years old.
หมายความว่า การเข้าสู่วัยเด็กที่ 70 ปีบางครั้งก็ดูร่าเริงและมีความหวังมากกว่าวัยแก่ 40 ปีอยู่มาก