ทางการนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ไม่สบายใจที่มีการใช้กลุ่มความร่วมมือ 5 ประเทศ ซึ่งเรียกว่า “ดวงตาทั้งห้า” หรือ “Five Eyes” ในการวิพากษ์วิจารณ์จีนในด้านสิทธิมนุษยชนและนโยบายต่างประเทศ
กลุ่มพันธมิตร “Five Eyes” ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1941 หรือ 70 ปีที่แล้ว เพื่อแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
อย่างไรก็ตาม เริ่มเกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันภายในกลุ่มเมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อสหรัฐฯ พยายามใช้เครือข่ายข่าวกรองภายใน 5 ประเทศดังกล่าวเพื่อกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาลจีน
นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศเล็กที่สุดในกลุ่มนี้ แสดงความลังเลที่จะร่วมลงนามในแถลงการณ์ประณามกรุงปักกิ่งเรื่องการปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง
รัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ นานาเอีย มาฮูตา กล่าวว่า แม้ความสัมพันธ์ของกลุ่มพันธมิตร Five Eyes มีความเหนียวแน่นอย่างยาวนานภายใต้หลักการและประโยชน์ร่วมกัน แต่ก็ไม่ใช่เวทีที่ใช้แสดงความกังวลในเรื่องสิทธิมนุษยชน
แต่นักวิจารณ์ รวมทั้งสื่อบางสำนักและนักการเมืองอังกฤษบางคน กล่าวหาว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์กำลังขาย “จิตวิญญาณให้แก่จีน” และเลือกผลประโยชน์ทางการค้ามาก่อนความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่มีหลักการเดียวกัน
ทางด้านสื่อของนิวซีแลนด์เองระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลกรุงเวลลิงตันกำลังตกที่นั่งลำบากตรงทางแยกสำคัญ โดยทางหนึ่งนั้นคือการเลือกเข้าร่วมวิจารณ์จีนพร้อมกับประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนกับที่ออสเตรเลียเผชิญอยู่ กับอีกทางหนึ่งคือการปิดปากเงียบ พร้อมไปกับการมองดูจุดสิ้นสุดของนโยบายต่างประเทศที่อิงหลักการความถูกต้องซึ่งนิวซีแลนด์ภาคภูมิใจมาตลอด
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่มพันธมิตร 5 ประเทศนี้ แสดงให้เห็นว่าชาติตะวันตกกำลังประสบอุปสรรคในการต้านทานอิทธิพลทางทหารและเศรษฐกิจของจีน ซึ่งกลายเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลกรุงปักกิ่งเอง
ปัจจุบัน 29% ของรายได้จากการค้าขายสินค้าของนิวซีแลนด์ มาจากการส่งออกสินค้าไปจีน ในขณะที่ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากกรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะสินค้าถ่านหินและไวน์จากออสเตรเลีย โดยผู้นำของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีกำหนดหารือกันในเดือนหน้าเกี่ยวกับจุดยืนของตนในกลุ่มพันธมิตร Five Eyes ด้วย