องค์การสหประชาชาติและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้มาเลเซียทบทวนแผนส่งตัวชาวเมียนมากว่า 1,200 คนกลับประเทศ เนื่องจาก บางส่วนของคนกลุ่มนี้มีฐานะเป็นผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยซึ่งมีความเสี่ยงที่จะประสบอันตรายหากกลับเข้าเมียนมาอีกครั้ง
รายงานข่าวเกี่ยวกับแผนการของมาเลเซียที่จะส่งตัวชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์กักกันกลับประเทศมีออกมาเมื่อกว่า 1 สัปดาห์ก่อน โดยสำนักข่าว เบอร์นามา ของรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ว่า คาอิรุล ไซมี ดาอุด ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย กล่าวว่า ชาวเมียนมาที่จะถูกส่งกลับนั้นเป็นกลุ่มที่ทำผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและไม่มีบัตรผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติด้วย
แต่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ยืนยันว่า มีชาวเมียนมาในกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งที่ได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยเรียบร้อยแล้ว พร้อมย้ำว่า ทางสำนักงานฯ ได้ติดต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ให้ส่งตัวผู้ลี้ภัยที่มีชื่อในระบบขององค์การสหประชาชาติกลับเมียนมา เพราะความเสี่ยงต่อชีวิตและเสรีภาพของคนเหล่านั้น
ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาทำการกวาดล้างกองทัพกลุ่มกบฏที่เป็นชนกลุ่มน้อยมาตลอด นับตั้งแต่เมียนมาประกาศอิสรภาพเมื่อปี ค.ศ. 1948 ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยกระจัดกระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย
ส่วนมาเลเซียนั้น แม้รัฐบาลไม่ได้ยอมรับผู้ลี้ภัยจากประเทศใดอย่างเป็นทางการ หน่วยงานรัฐมักอนุญาตให้องค์การสหประชาชาติออกบัตรผู้ลี้ภัยให้กับบุคคลดังกล่าว เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ต้องมีการส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด
รายงานข่าวระบุว่า ข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ตัวเลขผู้ลี้ภัยที่ UNHCR ลงทะเบียนในมาเลเซียไว้อยู่ที่เกือบ 179,000 คน และราว 154,000 คน เป็นผู้ที่มาจากเมียนมา
นอกจาก UNHCR แล้ว องค์การนักเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องเช่น องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) และ Human Rights Watch ออกมาเรียกร้องมาเลเซียให้ทบทวนท่าทีของตนเช่นกัน และขอให้รัฐบาลเลื่อนแผนการส่งตัวชาวเมียนมาออกไปจนกระทั่งองค์การสหประชาติเสร็จสิ้นกระบวนการคัดกรองแล้ว