ผู้ประท้วงทั่วเมียนมาไม่สนใจคำขู่จากกองทัพ และเดินหน้าชุมนุมต่อเนื่องเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
การชุมนุมประท้วงตามท้องถนนของเมียนมาในวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น เกิดขึ้นขณะที่พนักงานและลูกจ้างภาคธุรกิจเดินหน้าหยุดงาน ตามคำเรียกร้องจากกลุ่มเคลื่อนไหว Gen Z และกลุ่ม the Civil Disobedience Movement ที่มีออกมาเมื่อวันอาทิตย์ ที่เชิญชวนให้ออกมาร่วมกับการเคลื่อนไหว Spring Revolution หรือ การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ ในวันที่ 2 เดือน 2 ปี 2021 รวมทั้งเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 ด้วย ส่งผลให้โรงงานและร้านค้าต้องปิดทำการชั่วคราวเป็นจำนวนมาก
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้ส่งสารผ่านสถานีโทรทัศน์ MRTV ซึ่งเป็นของรัฐ เพื่อเตือนว่า ผู้ชุมนุม “กำลังปลุกปั่นประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่นและเยาวชนที่มีอารมณ์ร่วมง่าย ให้ออกมาร่วมหนทางแห่งการเผชิญหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียชีวิต”
ก่อนการประท้วงในวันจันทร์จะเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของเมียนมาในนครย่างกุ้งทำการตั้งด่านปิดถนนใกล้ๆ กับสถานทูตบางแห่งซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้ประท้วงมักมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นานาชาติเข้าทำการแทรกแซงปัญหาภายในประเทศนี้ ขณะที่ เจ้าหน้าที่ซึ่งประจำอยู่ในกรุงเนปิดอว์ ทำการจับกุมผู้ประท้วงหลายคนหลังทำการสลายการชุมนุมและทำการไล่ล่าไปตามท้องถนน
รายงานข่าวระบุว่า มีข่าวลือเกี่ยวกับการปิดระบบอินเตอร์เน็ตในช่วงเช้าของวันจันทร์ และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในเมียน ออกคำเตือนให้เตรียมพร้อมสำหรับกรณีดังกล่าวด้วย ก่อนที่ หน่วยงาน NetBlocks ซึ่งติดตามเฝ้าดูการปิดกั้นและกวนสัญญาณอินเตอร์เน็ต จะรายงานว่า ระบบเริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติในช่วง 9 โมงเช้า หลังจากกองทัพทำการปิดระบบอินเตอร์เน็ตในช่วงค่ำเป็นคืนที่ 8 แล้ว
ทอม แอนดรูวส์ ผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติ ประจำเมียนมา ทวีตข้อความออกมาเมื่อคืนวันอาทิตย์ว่า ตนรู้สึก “มีความกังวลอย่างมาก” เกี่ยวกับคำเตือนของรัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมเตือนด้วยว่า “ต่างจากเหตุการณ์เมื่อปี 1988 การกระทำใดๆ โดยหน่วยงานรักษาความมั่นคงในครั้งนี้ถูกบันทึกไว้หมดแล้ว และคุณต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้น”
แอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำเตือนผ่านทวิตเตอร์ในวันอาทิตย์เช่นกันว่า สหรัฐฯ “จะเดินหน้าดำเนินการกับผู้ที่ทำการใดๆ ที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของพม่า ที่ต้องการให้มีการคืนอำนาจให้กับรัฐบาลที่ได้รับเลือกมาตามระบอบประชาธิปไตย” และว่า “เรายืนหยัดกับประชาชนของพม่า” ด้วย
นับตั้งแต่เกิดการประท้วงทั่วประเทศมาภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 ราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นเด็กชายวัยรุ่น ซึ่งเป็นการสูญเสียที่เกิดขึ้น หลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กระสุนจริง ร่วมกับกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงดดันสูง และหนังสติ๊ก ในการจัดการกับฝูงชน
นอกจากนั้น มีรายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 20 คนจากเหตุความรุนแรงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ขณะที่ กลุ่มนักเคลื่อนไหว Assistance Association for Political Prisoners อ้างว่า มีผู้ถูกจับกุมไปแล้วประมาณ 640 คน ที่ถูกดำเนินคดีและจำคุกในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพ