ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทูตพิเศษยูเอ็นหวั่นความรุนแรงในเมียนมาลุกลามหลัง "วันนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุด"


Demonstrators block a road during an anti-coup protest in Yangon, Myanmar, March 4, 2021.
Demonstrators block a road during an anti-coup protest in Yangon, Myanmar, March 4, 2021.

การประท้วงในเมียนมาในวันพฤหัสบดียังคงรุนแรง หนึ่งวันหลังจากที่สหประชาชาติระบุว่าเป็น "วันนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุด" นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงเมียนมายิงแก๊สน้ำตา กระสุนยางและกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วงในนครย่างกุ้งและเมืองโมนยวาในวันพฤหัสบดี

ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประชาชนรวมตัวกันในงานศพของ จาล ซิน นักศึกษาวัย 19 ปีผู้ถูกยิงสังหารในวันพุธระหว่างการประท้วง โดยผู้ชุมนุมต่างชูโปสเตอร์รูป จาล ซิน และสวมเสื้อยืดที่มีข้อความว่า "ทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี"

มิเชล แบชเชเล็ท (Michelle Bachelet) ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิต 38 คนในวันพุธ ซึ่งถือเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการประท้วงรัฐประหาร โดยยอดผู้เสียชีวิตจนถึงขณะนี้มากกว่า 54 คน และคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจมากกว่านี้

เธอยังเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างสันติ หยุดการสังหารประชาชนและการจับกุมคุมขังผู้ประท้วง โดยคาดว่าจนถึงขณะนี้มีผู้ถูกจับกุมแล้วกว่า 17,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สื่อข่าว 29 คน

คริสทีน ชเรเนอร์ เบอร์เกเนอร์ (Christine Schraner Burgener) ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมา กล่าวกับผู้สื่อข่าวผ่านทางวิดีโอออนไลน์ว่า เธอรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งเมื่อเห็นวิดีโอในโลกออนไลน์ที่แสดงให้เห็นตำรวจเมียนมายิงผู้ประท้วงในระยะประชิด รวมถึงวิดีโอที่ตำรวจทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข โดยจากการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธตรวจสอบวิดีโอดังกล่าว พบว่าอาวุธปืนที่ตำรวจใช้น่าจะเป็นปืนกลกึ่งอัตโนมัติและกระสุนจริงขนาด 9 มม.

UNSG's special envoy to Myanmar Ms Christine Schraner Burgener
UNSG's special envoy to Myanmar Ms Christine Schraner Burgener

ชเรเนอร์ เบอร์เกเนอร์ กล่าวด้วยว่า เธอได้พูดคุยติดต่อกับนางออง ซาน ซูจี และคณะกรรมการตัวแทนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี เป็นประจำทุกวัน รวมทั้งได้ติดต่อไปยังรองผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพเมียนมา พลเอกซอ วิน (Soe Win) ด้วย ซึ่งได้รับการยืนยันว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในระยะเวลาหนึ่งปี

ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมา แสดงความกังวลด้วยว่า กองทัพเมียนมาอาจใช้วิธีตั้งข้อหาและสอบสวนพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งจะมีผลให้ทางพรรคไม่สามารถลงแข่งขันเลือกตั้งได้ และอาจนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งของกองทัพเมียนมา

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าแม้วิธีนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วในอดีต แต่สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เพราะประชาชนรุ่นใหม่เคยชินกับเสรีภาพในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาไม่ต้องการกลับสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้ง และยังมีสื่อสังคมออนไลน์ในการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ทำให้การควบคุมของกองทัพไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

Riot police officers fire teargas canisters during a protest against the military coup in Yangon, Myanmar, February 28, 2021. REUTERS/Stringer NO RESALES NO ARCHIVE
Riot police officers fire teargas canisters during a protest against the military coup in Yangon, Myanmar, February 28, 2021. REUTERS/Stringer NO RESALES NO ARCHIVE

สำหรับมาตรการลงโทษจากประชาคมโลกนั้น ชเรเนอร์ เบอร์เกเนอร์ บอกว่าทางผู้นำทหารเมียนมามิได้แสดงความกังวลแต่อย่างใด โดยเธอได้รับคำตอบมาว่า เมียนมาเคยชินและสามารถเอาตัวรอดจากมาตรการลงโทษมาแล้วในอดีต และว่า "เมียนมาจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะก้าวเดินไปกับพันธมิตรเพียงไม่กี่ราย"

ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมา เชื่อด้วยว่า ความรุนแรงในเมียนมาจะขยายไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศ หลังจากที่กองกำลังชนกลุ่มน้อย 10 กลุ่มจาก 21 กลุ่ม ประกาศว่าจะตอบโต้ทหารเมียนมาหากประชาชนของพวกตนถูกโจมตี ซึ่งเธอเชื่อว่าหากเกิดขึ้นจะกลายเป็น "สงครามที่แท้จริง" ในเมียนมา

คริสทีน ชเรเนอร์ เบอร์เกเนอร์ มีกำหนดกล่าวสรุปสถานการณ์ในเมียนมาต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติในวันศุกร์นี้ พร้อมแสดงความหวังว่ากองทัพเมียนมาจะอนุญาตให้คณะผู้แทนของสหประชาชาติเดินทางเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ในเมียนมาได้เร็ว ๆ นี้

XS
SM
MD
LG