ในรัฐคะยา ประชาชนท้องถิ่นจำนวนมากออกมาประท้วงแผนสร้างอนุสาวรีย์ของนายพลออง ซาน มี มี่ (Mie Mie) บิดาของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมาคนปัจจุบัน
ผู้นำด้านประชาสังคมในรัฐคะยา กล่าวว่า หากจะมีสร้างอนุสาวรีย์วีรบุรุษในรัฐคะยา ก็ควรเป็นวีรบุรุษจากรัฐคะยา
ชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ไม่เชื่อใจรัฐบาลกลางของเมียนมาซึ่งคุมโดยคนเผ่าพม่ามานานเเล้ว หลังจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางซูจี ชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2015 ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มหวังว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไป เเต่ความไม่เชื่อใจต่อรัฐบาลยังเพิ่มขึ้นต่อไป
และในขณะนี้ สมาชิกจำนวนมากของชนกลุ่มน้อย มองว่า นางซูจีกำลังเข้าร่วมเป็นฝ่ายเดียวกับกองทัพ
ดูเหมือนว่ามีการสร้างอนุสาวรีย์นายพลอองซานเพิ่มขึ้นจำนวนมากทั่วประเทศ ตั้งเเต่พรรค NLD ของนางซูจีขึ้นสู่อำนาจ และในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2017 มีการเปิดตัวรูปปั้นช่วงหัวถึงหน้าอกของนายพลอองซานในเมืองมัณฑะเลย์ ในขณะที่รูปปั้นอีกหลายชิ้นเริ่มปรากฏให้เห็นในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยหลายพื้นที่
ไม่รู้กันแน่ชัดว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างอนุสาวรีย์นายพลอองซานเเละไม่สามารถติอต่อโฆษกของพรรคเอ็นแอลดีเพื่อขอความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ได้
อย่างไรก็ตาม อนุสาวรีย์ของนายพลอองซานเหล่านี้ไม่ได้รับการต้อนรับเสมอไป
สาไล โฮลี่ (Salai Holy) บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ The Chinland Post ในรัฐชิน กล่าวกับวีโอเอว่า รัฐบาลของรัฐชินวางแผนสร้างอนุสาวรีย์นายพลอองซานขึ้นในรัฐสองจุดด้วยกัน แต่คนท้องถิ่นส่วนมากไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าเป็นการดีกว่าหากรัฐบาลจะใช้เงินงบประมาณในการพัฒนารัฐชิน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมือง การพัฒนาแหล่งน้ำสะอาด ถนนหนทาง สุขอนามัย เเละการรักษาพยาบาล แทนที่จะนำไปสร้างอนุสาวรีย์นายพลอองซาน
บรรดานักวิเคราะห์บอกว่า การสร้างอนุสาวรีย์นายพลอองซานจะยิ่งทำให้ชนเผ่ากลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ รู้สึกแปลกเเยกมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคะเเนนเสียงพรรคเอ็นเเอลดีของนางซูจี ในการเลือกตั้งซ่อมในเดือนพฤศจิกายนนี้ เเละการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2020
ในตอนต้นปี ค.ศ. 2017 หลายสัปดาห์ก่อนหน้าการเลือกตั้งซ่อม มีการประท้วงครั้งใหญ่หลายครั้งในรัฐมอญ หลังจากรัฐบาลเมียนมาลงมติให้ตั้งชื่อสะพานแห่งหนึ่งในรัฐมอญตามชื่อของนายพล ออง ซาน แต่ประชาชนในรัฐมอญต้องการให้สะพานดังกล่าวมีชื่อที่เเสดงความเป็นชาวมอญ
ผลปรากฎว่า พรรคเอ็นเเอลดีเเพ้การเลือกตั้งต่อพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เอี่ยวกับฝ่ายกองทัพ
มี คุน ชาน นน (Mi Kun Chan Non) รองประธานขององค์กรผู้หญิงมอญ (Mon Women's Organization) กล่าวว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับชื่อของสะพานส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งซ่อม เธอกล่าวว่า ชาวมอญมีผู้นำจำนวนมากที่มีความสำคัญต่อชาวมอญ เเละคนในรัฐคะยาก็เรียกร้องให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของผู้นำของชาวคะยาเช่นกัน
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายเเก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)