เรียกได้ว่าเกาะกระแสของ Avengers: End Game สำหรับพ่อหนุ่มสไปดี้ กับหนังฉายเดี่ยวภาคต่อของไอ้หนุ่มแมงมุม Spider-Man ในภาคใหม่ “Spider-Man: Far from Home“
ในภาคนี้เล่าถึงการผจญภัยครั้งใหม่ของปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ซูเปอร์ฮีโรขวัญใจหมู่บ้านในย่านควีนส์ รัฐนิวยอร์ก ที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นภารกิจกู้โลกครั้งสำคัญ หลังศึกใหญ่ใน Avengers: End Game และขอกลับไปใช้เวลาวัยรุ่นเฉกเช่นนักเรียนมัธยมปลายทั่วไป แต่ดันปิดเทอมพอดี เขาจึงตั้งตารอคอยกิจกรรมสำคัญของนักเรียนไฮสคูล นั่นคือการไป field trip หรือการไปทัศนศึกษายังต่างประเทศร่วมกับเพื่อนๆร่วมชั้นถึงยุโรป
ซึ่งแม้ปีเตอร์จะวางแผนมาอย่างดีแค่ไหน แต่ก็ไม่วายเจอภารกิจใหม่ในการไขคดีเอเลี่ยน 4 ธาตุจากดาวอื่นบุกโลก พร้อมกับการปรากฏตัวของซูเปอร์ฮีโร่คนใหม่ที่คาดไม่ถึง
เรื่องขอชื่นชมมาร์เวลในความพยายามลบภาพเดิมๆ ของพ่อหนุ่มสไปดี้ ที่ค่อนข้างขื่นขมระทมฤทัย มาตั้งแต่ยุค โทบีย์ แมคไกวร์ มาจนถึงยุค แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ซึ่งมาแนวพ่อหนุ่มนัยน์ตาโศกกับวิถีอันแสนเศร้ากันหมด แต่สไปเดอร์แมนในยุคของ ทอม ฮอลแลนด์นั้น ช่างเป็นเด็กเกรียนที่แสนสดใส และมีจิตใจอันงดงามเสียเหลือเกิน
ในภาคนี้ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ก็เป็นสไตล์ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ยุโรปก็อยากเที่ยว โลกก็อยากปกป้อง กลายเป็นวัยรุ่นภาระเยอะ บางช่วงออกจะเห็นใจกับสถานการณ์ที่ไม่ค่อยเข้ารูปเข้ารอยให้สไปดี้ในช่วงแรกๆ มีปมเรื่องโน่นนั่นนี่ที่ดูเป็นมาร์เวล ซึ่งต้องมีพื้นฐานการชมมาก่อนในจักรวาลนี้ แต่แน่นอนดิสนีย์ไม่ปล่อยให้หนังมืดมนได้ขนาดนั้น ซึ่งก็ปลอดภัยกับเด็กและเยาวชนที่จะเข้าไปดูกัน
ส่วนเรื่องของฉากและซีจี เหมาะกับคนชอบความฟู่ฟ่าอลังการของฉาก แต่อาจจะสร้างความเวียนหัวหน่อยและดูไม่สมจริงในบางฉาก แต่ถือว่าเป็นความพยายามในการหยิบยกเรื่องเทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR และเรื่องโดรนมาใช้กับหนัง บวกกับการเล่นประเด็นของการนำเสนอข่าวสารในปัจจุบันที่ไม่ควรจะเชื่อในสิ่งที่เห็นแต่ด้านเดียว และการนำเสนอคลิป Deepfake ทำให้คนดูที่ติดตามข่าวกันมาบ้าง อาจรู้สึกอินกับหนังที่อิงสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยสรุปแล้ว Spider-Man: Far from Home ถือว่ามาไกลในเรื่องของตัวบทตัวหนัง แต่ยังคงเส้นคงวาในการนำเสนอความสนุกสนานประสาวัยรุ่น ได้ดูพัฒนาการของตัวละครที่หลายคนอาจจะรอชมความสัมพันธ์ระหว่างปีเตอร์และเอ็มเจ บวกกับรอชมความสวยแซ่บของป้าเมย์ในเรื่องนี้ และฉากแอคชั่นตู้มต้ามให้ได้ลุ้นกันตลอด
(บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ)