จะเป็นอย่างไรชีวิตที่เหลืออยู่ของเรา คือ โลกเสมือนจริง? นี่อาจเป็นโจทย์ใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เหมือนดูมาจากโลกแห่งอนาคต แต่สำหรับเทคโนโลยีเสมือนจริง ตอนนี้มันอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว
Ready Player One หรือ สงครามเกมคนอัจฉริยะ ดัดแปลงจากนิยายขายดีในชื่อเดียวกัน จากปลายปากกาของ Ernest Cline ว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2044 โลกเหมือนนรกบนดินที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ผู้คนจึงหันไปพึ่งพิง The Oasis จักรวาลเสมือนจริงที่ทุกคนจะได้มี ได้เป็นและได้ทำสิ่งที่ปรารถนา
แต่แล้ววันหนึ่ง The Oasis ต้องกลับกลายเป็นสมรภูมิเดือด เมื่อผู้สร้าง เจมส์ ฮัลลิเดย์ (มาร์ค ไรแลนซ์) เสียชีวิตลง พร้อมทิ้งทรัพย์สมบัติมหาศาลและอำนาจในการควบคุม The Oasis ให้กับคนแรกที่พิชิตกุญแจ 3 ดอก เพื่อเปิดประตูสู่ไข่อีสเตอร์ดิจิตอลที่เขาซ่อนไว้ใน The Oasis
จนแล้วจนเล่า 5 ปีก็ไม่มีใครพิชิตได้ จนกระทั่ง เวด วัตส์ (ไท เชอริแดน) หรือ พาร์ซิวัล เอาชนะการแข่งขันได้เป็นคนแรก แน่นอนเขากลายเป็นคนดังและตกอยู่ในอันตรายแทบจะทันที เพราะตกเป็นเป้าหมายของ โนแลน ซอร์เรนโต (เบ็น เมนเดลซอห์น) มหาอำนาจด้านไอทีที่อยากจะครอบครอง The Oasis ซึ่งเปรียบได้กับครอบครองโลกทั้งใบ เวด จึงต้องร่วมมือกับผองเพื่อนเหล่าเกมเมอร์เพื่อปกป้อง The Oasis ให้ได้
แค่พลอตเรื่องก็น่าสนุกแล้ว พอรู้ว่าหนังตกไปอยู่ในมือของพ่อมดฮอลลีวู้ด สตีเวน สปีลเบิร์ก เท่านั้น ตั๋วหนังและป๊อบคอร์นในมือก็สั่นทันที ผู้วิจารณ์ไม่พลาดที่จะเกาะขบวนรอบฉายตั้งแต่วันพุธ ซึ่งเรียกว่าเกือบจะเป็นรอบแรกๆที่หนังเข้าฉายในอเมริกา ถ้าไม่นับรวมรอบปฐมทัศน์
ที่ผ่านมาผู้วิจารณ์เริ่มเบื่อหน่ายกับการสร้างหนังเกิน 2 ชั่วโมงของผู้กำกับยุคนี้ ที่รักพี่เสียดายน้องกับฉากต่างๆที่ได้ถ่ายมา เรื่องนี้ก็เช่นกัน
เพียงแต่ Ready Player One อัดแน่นด้วยวัฒนธรรมแบบกระแสนิยม Pop-culture แบบล้นทะลัก ... คอเกม คอการ์ตูน คอภาพยนตร์ และคอเพลง จะมีเฮกันในโรงแทบทั้งเรื่องเมื่อได้เจอสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ เรียกได้ว่าดูไปอมยิ้มไปถึงความใส่ใจในรายละเอียดของหนังเรื่องนี้
ภาพยนตร์ให้ความยิ่งใหญ่ความอลังการเหมือนภาพยนตร์อวตารชุบไข่และคลุกแป้งขนมปังทอดอีกที เพราะยิ่งใหญ่สมการรอคอยมาก ขณะที่นักแสดงในชีวิตจริง ให้อารมณ์ของ Geek และ Nerd ที่สมจริง และมีหลายฉากที่ทำให้เราอ้าปากค้างได้เหมือนกัน
สิ่งที่ผู้วิจารณ์ได้รับ เมื่อเดินออกจากโรงภาพยนตร์นี้ไปแล้วก็คือ ในเรื่องนี้ตอกย้ำว่า บนโลกเสมือนจริงทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา คนทุกอายุเท่าเทียมกัน แต่ในชีวิตจริง การให้เกียรติซึ่งกันและกันก็เป็นสิ่งพึงทำด้วยเช่นกัน
และเราใช้ชีวิตคู่ขนานบนโลกเสมือนจริงกับชีวิตจริงได้ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้า แต่ต้องใช้วิจารณญาณ การแยกแยะสิ่งถูกผิด และอยู่บนพื้นฐานแห่งความพอดี
(บทวิจารณ์โดย นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ)