เมื่อต้นเดือนมีนาคม ญี่ปุ่นได้จัดส่ง เสื้อและหมวกกันกระสุน และอุปกรณ์ทางการทหารอื่น ๆ ที่ไม่ร้ายแรง ให้กับยูเครน ผ่านทางเครื่องบินลำเลียงสินค้าของกองกำลังป้องกันตัวเอง
สิ่งของเหล่านี้ อาจจะดูห่างไกลจากจรวจขีปณาวุธที่อาศัยเครื่องยิงพาดไหล่ โดรน และอาวุธอื่น ๆ ที่ประเทศตะวันตกได้ทยอยส่งให้ยูเครนเพื่อต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย แต่ทว่า การตัดสินใจดังกล่าวของญี่ปุ่น ถือเป็นก้าวสำคัญของรัฐบาลกรุงโตเกียว หลังจากที่ญี่ปุ่นไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับข้อขัดแย้งทางการทหารของประเทศอื่นมาเป็นเวลาหลายสิบปี เพราะข้อกำหนดในกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ
กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นทวีตข้อความว่า ภารกิจเหล่านี้ถือเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น แต่เราจะทำให้ดีที่สุดที่จะส่งอุปกรณ์ไปให้ยูเครนโดยเร็วที่สุด
ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะกล่าวว่าพวกเขาไม่มีแผนที่จะส่งอาวุธไปยังยูเครน แต่ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมกับกลุ่มประเทศตะวันตกในการกดดันรัสเซียด้วยมาตรการทางการทูตและทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลกรุงโตเกียวได้ใช้มาตรการลงโทษต่ออภิมหาเศรษฐีผู้มีอำนาจของรัสเซีย หรือ โอลิการ์ก (oligarchs) ระงับการดำเนินการด้านทรัพย์สินของธนาคารรัสเซีย และถอดถอนรัสเซียออกจากสถานะชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (most-favored nation) ทางการค้า
ญี่ปุ่นยังได้ส่งเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนให้กับยูเครน 100 ล้านดอลลาร์ และทำให้กระบวนการรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนเข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของดินแดนอาทิตย์อุทัย ที่ในอดีตนั้นมักจะลังเลที่จะรับผู้ลี้ภัยต่างด้าว
มาตรการของญี่ปุ่นไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนท่าทีของการใช้นโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวขึ้นเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าทิศทางรัฐบาลกรุงโตเกียวนั้นเป็นไปในแนวทางเดียวกับประเทศตะวันตกมากขึ้น โดยการยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเชื่อมั่นหรือค่านิยมที่ประสานสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน
มัสสึโมโต โคอิชิโร รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านกิจการสาธารณะกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า การให้การสนับสนุนยูเครนนั้น “เป็นไปตามธรรมชาติ” เพราะญี่ปุ่นเป็น “หนึ่งในประเทศที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากสันติภาพและความมั่นคงของโลก”
“เราให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อค่านิยมสากล เช่น ประชาธิปไตย การปฏิบัติตามกฎหมาย และการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกอีกด้วย เรารู้จากประสบการณ์ของเราเองว่าเมื่อใดก็ตามที่เราหยุดต่อสู้เพื่อรักษาคุณค่าเหล่านี้เอาไว้ เมื่อนั้นเราก็จะเปิดโอกาสและพื้นที่ให้กับการปกครองแบบอำนาจนิยม” มัสสึโมโตกล่าว
แรงหนุนจากสังคมญี่ปุ่น
ดูเหมือนว่าชาวญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนท่าทีของรัฐบาลของตนเช่นกัน การสำรวจล่าสุดของสื่อญี่ปุ่น โยมิอุริ ชิมบุน พบว่า 82 เปอร์เซ็นต์ของชาวญี่ปุ่นสนับสนุนการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจลงโทษรัสเซีย และแสดงให้เห็นด้วยว่าผู้คนส่วนใหญ่สนับสนุนการรับผู้อพยพชาวยูเครนเข้ามาพักพิงในประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เห็นได้บ่อยนัก ตามความเห็นของโครีย์ วอลเลซ (Corey Wallace) อาจารย์ผู้สอนหลักสูตรความปลอดภัยของโลกที่มหาวิทยาลัย คานากาวา (Kanagawa University) ที่เมืองโยโกฮามา โดยก่อนหน้านี้ ชาวญี่ปุ่นมีความลังเลที่จะรับผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถานและซีเรีย
แรงสนับสนุนจากสังคมนี่เองที่ทำให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ สามารถเปลี่ยนท่าทีของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับยุคสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ที่เคยพยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับรัสเซีย
โดยวอลเลซกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซียนั้นไม่ได้ดีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ถึงแม้ว่าอดีตนายกฯ อาเบะจะพยายามก็ตาม
ในปี ค.ศ.2014 อาเบะผ่อนคลายกฎของญี่ปุ่นในการส่งออกอาวุธไปยังต่างประเทศ หากการส่งออกเหล่านั้นทำไปเพื่อ “สร้างสันติภาพให้กับโลก”
ความเสี่ยงสำคัญที่ตามมา
อย่างไรก็ตาม ท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นของญี่ปุ่นที่มีต่อรัสเซียนั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงในด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์เช่นกัน
ญี่ปุ่นนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียในปีที่ผ่านมา โดยคิดเป็น 9 และ 4 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าทั้งหมด ทำให้เป็นไปได้ว่าราคาพลังงานในญี่ปุ่นจะเพิ่มสูงขึ้น ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นซึ่งไม่มีทรัพยากรของตนเองเท่าใดนัก ยังไม่ได้ทำตามสหรัฐฯ ในการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย
อาร์เทียม ลูคิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Far Eastern Federal University ในเมืองวลาดิวอสต็อก รัสเซีย กล่าวว่า ญี่ปุ่นน่าจะรักษาการค้าที่สำคัญ ๆ กับรัสเซียเอาไว้ แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนั้นน่าจะได้ถูก “ปรับลดลงอย่างมาก” และเขาแน่ใจว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะได้รับผลกระทบที่เลวร้าย และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะคงอยู่ไปอีกนานแสนนาน ถึงแม้ว่าสงครามในยูเครนจะยุติลงในวันพรุ่งนี้ก็ตาม
ลูคินยังเสริมด้วยว่า รัสเซียน่าจะตอบโต้ด้วยการเพิ่มการฝึกซ้อมรบใกล้กับประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งให้มีการแล่นเรือใกล้กับชายฝั่งญี่ปุ่น และขับเครื่องบินรบใกล้น่านฟ้าญี่ปุ่นอีกด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวยังจะทำให้กรุงมอสโกมีความใกล้ชิดกับกรุงปักกิ่งมากยิ่งขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อญี่ปุ่นในการสานสัมพันธ์กับรัสเซียในอนาคต
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีคิชิดะ ยังได้ยุติการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย ที่มีขึ้นเพื่อหาทางออกให้กับข้อพิพาทเรื่องพรมแดนบริเวณเกาะสองแห่งที่รัสเซียควบคุมอยู่ในขณะนี้ คิชิดะกล่าวว่าการเจรจาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม หลังจากที่รัสเซียโจมตียูเครน