ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘หมูเด้ง’ รันวงการโซเชียล ออกโพลรายการดังยันเพจขนส่งรัฐเท็กซัส


หมูเด้งในอิริยาบถเคลื่อนไหว ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว วันที่ 16 กันยายน 2567 (ที่มา: Reuters)
หมูเด้งในอิริยาบถเคลื่อนไหว ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว วันที่ 16 กันยายน 2567 (ที่มา: Reuters)

ลูกฮิปโปแคระในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ขี่กระแสครองใจชาวโลกอย่างต่อเนื่อง และหลายภาคส่วนก็หยิบความน่ารักนี้ไปขยายความนิยมกันต่อบนโลกออนไลน์

ชื่อเสียงของหมูเด้งอยู่ในจุดที่แรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ นับตั้งแต่โพสต์เดบิวต์เปิดตัวบนเฟซบุ๊กเมื่อราวหนึ่งเดือนที่แล้ว จนสวนสัตว์เขาเขียวที่ จ.ชลบุรี คลาคล่ำไปด้วยแฟน ๆ ที่เดินทางมาดูฮิปโปแคระเพศเมียอายุราวสองเดือนที่อาศัยอยู่กับแม่ที่ชื่อโจน่า

ความดังระดับพลุแตกของหมูเด้ง ทำให้อรรถพล หนุนดี พี่เลี้ยงในสวนสัตว์ที่คอยโพสต์รูปสัตว์น่ารัก ๆ ที่รับดูแล ทึ่งกับเทรนด์ที่กำลังเป็นอยู่ ตามการรายงานของเอพี

ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สวนสัตว์เขาเขียวเริ่มถ่ายทอดสดชีวิตของหมูเด้งผ่านช่องทางยูทูบ และเว็บไซต์ Zoodio ของทางสวนสัตว์เขาเขียว ให้แฟนคลับสามารถรับชมอิริยาบถจากทางไกล

องค์ประกอบทั้งความน่ารัก สดใส ซุกซน และสีชมพูนวล ๆ ถูกนำไปขยายต่อบนโซเชียลมีเดีย

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา บัญชีแพลตฟอร์ม X ของรายการดังของสหรัฐฯ เดอะทูไนท์โชว์ เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นกวน ๆ ด้วยโจทย์ว่า “จะโหวตให้ใครเป็นประธานาธิบดี” โดยมี 4% เลือกคามาลา แฮร์ริส อีก 3% เลือกโดนัลด์ ทรัมป์ และอีก 93% ระบุว่าจะเขียนชื่อหมูเด้งลงไปในบัตรเลือกตั้ง

ในโพสต์ดังกล่าว บัญชีของสวนสัตว์เปิดเขาเขียวก็ไปตอบว่า “ด้วยความยินดี (You're welcome)” พร้อมแนบภาพของหมูเด้งที่กำลังอ้าปากแบบตุ้ยนุ้ย

ในวงการกีฬาก็มีหลายทีมที่นำรูปหมูเด้งไปตัดต่อและใช้ในช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง เช่นในแพลตฟอร์ม X ของ ‘เสือใต้’ บาเยิร์น มิวนิค ทีมฟุตบอลดังแห่งเยอรมนี ที่นำหน้าของหมูเด้งมาใช้เป็นมาตรวัดอารมณ์ของผลการแข่งขันแต่ละนัด

ด้านทีมอเมริกันฟุตบอล วอชิงตัน คอมแมนเดอร์ส ก็ตัดต่อภาพหมูเด้งเข้าไปในบรรยากาศในสนาม พร้อมแคปชั่นที่แปลได้ว่า “มาทำอะไรที่นี่ฮะเจ้าหมูเด้ง”

นอกจากนั้นยังมีสโมสรกีฬาอีกหลายแห่งที่โปรโมทเนื้อหาผ่านเจ้าหมูเด้ง เช่น ทีมบาสเกตบอล ฟีนิกซ์ ซันและ ยูทาห์ แจ๊ส ไปจนถึงขึ้นบนสกอร์บอร์ดที่มิชิแกนสเตเดียม ในแมทช์อเมริกันฟุตบอลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ความชมพูเด้งดึ๋ง ถูกนำไปขยายความต่อในวงการเครื่องสำอาง เช่น แบรนด์เซโฟร่า (Sephora) ก็โฆษณาชุดเครื่องสำอางสีอมชมพู พร้อมแปะหน้าหมูเด้งเข้าไปในโพสต์อินสตาแกรม ส่วนแบรนด์อัลลัวร์ (Allure) ก็ทำเนื้อหานำคนมาแต่งหน้าด้วยธีมสีหมูเด้งในแพลตฟอร์มติ๊กตอก

Mei Pang ศิลปินด้านการประทินโฉม ที่มียอดผู้ติดตาม 3 ล้านบัญชีบนอินสตาแกรม ก็ทำวิดีโอแต่งหน้าด้วยธีมสีชมพูชุ่มชื้นอวบอิ่มแบบหมูเด้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ความดังของหมูเด้งลุกลามไปถึงหน่วยงานการขนส่งแห่งรัฐเท็กซัส ที่โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยแปะภาพหมูเด้งเข้ากับเบาะที่นั่งของเด็ก พร้อมข้อความรณรงค์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการให้เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ นั่งในที่นั่งนิรภัยเด็ก (car seat) โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวได้รับความนิยมกว่าเนื้อหาที่เผยแพร่ในช่วงเวลาเดียวกัน ด้วยยอด 32,000 ไลก์ และยอดแชร์อีก 6,000 ครั้ง

การส่งต่อการรับรู้ของหมูเด้งผ่านโลกโซเชียลมีเดีย ส่วนหนึ่งกระทำกันด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘มีม (meme)’ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการผลิตและส่งต่อเนื้อหากันอย่างรวดเร็วบนโลกอินเทอร์เน็ต อ้างอิงตามนิยามของพจนานุกรมเคมบริดจ์

มีบทความหนึ่งจากเว็บไซต์สื่อ BuzzFeed ที่ทำโปรแกรมให้ชาวเน็ตเข้าไปเล่น ด้วยการให้ระบบปัญญาประดิษฐ์สร้างภาพของหมูเด้งขึ้นมาตามโจทย์ที่ผู้ใช้งานพิมพ์เข้าไป

ฮิปโปแคระมีถิ่นอาศัยตามธรรมชาติอยู่ในแอฟริกาตะวันตก และปัจจุบันตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกคนไล่ล่าและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ เอพีรายงานว่ามีสัตว์ในสปีชีส์เดียวกันกับหมูเด้งอยู่ในธรรมชาติราว 2,000 - 3,000 ตัว

สวนสัตว์เขาเขียวมีโครงการขยายพันธุ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และได้จัดทำเสื้อผ้าลายหมูเด้งขึ้นมาเพื่อนำรายได้ไปใช้ในโครงการดังกล่าว โดยมีกำหนดวางขายสิ้นเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่จะปล่อยสินค้าอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG