“...ตอนนี้ปัญหาที่ผมโฟกัสมากสุดก็คือปัญหาเงินเฟ้อครับ...”
“..ผู้คนก็เริ่มบ่นๆกันเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องค่าครองชีพ เรื่องเศรษฐกิจ..”
“..คิดว่าเรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราก็มีร้านอาหาร ...”
“..ตอนนี้เรื่องเศรษฐกิจเลยค่ะ เรื่องเงินเฟ้อ หลายอย่างเลย..
..สนใจเรื่องเศรษฐกิจว่า จะเอาภาษีไปช่วยสนับสนุนทางไหน.."
…คำถามต่อไปก็คือว่าถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง (หลังการเลือกตั้ง) ขึ้นมาจริงๆมันจะดีขึ้นหรือเปล่า??
หลากคำถาม และเสียงสะท้อนของชาวไทยในอเมริกาที่ยก ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ และปัญหาเงินเฟ้อ เป็นอันดับต้นๆของปัญหาสำคัญที่ต้องการให้มีการแก้ไข และอาจใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นเงื่อนไขของการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้งกลางเทอม (Midterm Election) ของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้
มองเศรษฐกิจเป็นประเด็น แต่ยังเห็นต่างในแนวทางเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตามแม้หลายคนจะให้ความสำคัญในประเด็นเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ความเห็น และมุมมองทางการเมือง รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาก็ยังคงมีความแตกต่าง
.ตอนนี้เรื่องเศรษฐกิจเลยค่ะ เรื่องเงินเฟ้อ หลายอย่างเลย..ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเชื้อสายไทยในสหรัฐฯ
ชยันต์ นรพัลลภ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชื้อสายไทยในรัฐเวอร์จิเนีย มองว่าน่าจะให้โอกาสรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ชุดปัจจุบันทำงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อให้เสร็จ ขณะที่ ฉวีวรรณ ทองเปี้ย นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงวอชิงตัน คาดหวังว่าอย่างน้อยจะมีการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งครั้งนี้
“คือรู้เลยว่าดอกเบี้ยก็ขึ้น อะไรอะไรก็ขึ้น การไปเลือกตั้งอาจจะช่วยได้ ถ้าคนดีๆมาช่วยในเศรษฐกิจของเราอาจจะพัฒนาประเทศได้ดีขึ้น เพราะว่าคนที่เป็นผู้นำสำคัญมากเลยนะ เพราะว่าเป็นการแนะนำว่าจะต้องออกมาในแนวไหน ปีต่อไปจะเป็นยังไง อย่างน้อยเราก็มีความหวังนะคะทางเศรษฐกิจของพวกเราค่ะ” ฉวีวรรณ ทองเปี้ย กล่าวกับ ’วีโอเอ ไทย’
“ระบบเศรษฐกิจวันมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับหลายๆอย่างถ้าเกิดเลือกมันก็อยากจะให้…เพราะตอนนี้พรรคเดโมแครตเขาเป็นรัฐบาลก็อยากให้เขาทำงานต่อให้จบ...” ชยันต์ นรพัลลภ กล่าว
ใครเข้ามาก็เล่นการเมืองอยู่ดี ไม่เน้นแก้เศรษฐกิจ
ขณะที่ เรืองโรจน์ อัมราลิขิต วิศวกรในแถบกรุงวอชิงตัน ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐแมรีแลนด์ บอกว่า ในสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนจากหลายปัจจัย และสภาวะเงินเฟ้อ ไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามากุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาหลังการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ คงไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากนัก
“..ด้วยความที่มันไม่ได้เป็นเลือกตั้งที่ไม่มีประธานาธิบดีคนใหม่เข้ามา ที่จะมีใครชัดเจนว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจอะไรยังไง ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในในสภาทั้งสองสภาก็ตาม ..แต่ว่าตราบใดที่ประธานาธิบดียังเป็นคนเดิม การเปลี่ยนแปลงก็ไม่แน่ใจว่าว่าจะมีมากน้อยขนาดไหน..
..คือการเมืองยังไงก็เป็นการเมือง ต่อให้วันพรุ่งนี้ (พรรค)รีพับลิกันจะชนะเข้ามา..ถามว่าเศรษฐกิจดีขึ้นไหมสิ่งแรกที่จะทำอะไร? คำตอบคืออาจจะยกเลิกการสอบสวนคดีวันที่ 6 มกราคม (กรณีกรบุกรุกอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม) ใช่เปล่า? เพราะมันคือการเมือง และถามว่าจะทำอะไรต่อ คราวนี้จะไปสืบสวน ปธน. ไบเดน ต่อ หรือว่า ฮันเตอร์ ไบเดน (ลูกชาย ปธน. ไบเดน) ถามว่าจะทำอะไรที่เกี่ยวทำให้เศรษฐกิจหรือเปล่า ? ไม่รู้เหมือนกัน มันก็ตอบยาก...”
การเลือกตั้งกลางเทอมเป็นตัวบ่งชี้อะไรบางอย่าง..ให้เห็นว่าคนรู้อย่างไรกับการบริหารงานปัจจุบัน 2 ปีที่ผ่านมา ..อาจจะเป็นตัวบ่งชี้บางอย่างที่จะทำให้เกิดขึ้นอีก 2 ปีข้างหน้าได้เรืองโรจน์ อัมราลิขิต ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวไทยในอเมริกา
เลือกตั้งกลางเทอมเปลี่ยนไม่มาก แต่เป็นสัญญานชี้อนาคต
หลายคน มองว่า ผลการเลือกตั้งกลางเทอม อาจจะส่งสัญญานบางอย่างต่อการเลือกตั้งใหญ่ในอีก 2 ปีข้างหน้า
“.. คิดว่าตัวนี้ (การเลือกตั้งกลางเทอม) จะเป็นตัวที่ทำให้ภาพของอีก 2 ปีข้างหน้า ว่าจะเป็นยังไงได้ค่อนข้างชัด เพราะว่าที่ผ่านมาหลายๆคนอาจจะพอใจ หลายคนอาจจะไม่พอใจกับการบริหารงานของ ปธน.ไบเดน ซึ่งโดยทั่วๆไปสมัย ปธน.ทรัมป์ ก็เหมือนกัน Midterm Election (การเลือกตั้งกลางเทอม) ก็เป็นตัวบ่งชี้อะไรบางอย่างในการที่จะให้เห็นว่า คนรู้อย่างไรกับการบริหารงานปัจจุบัน 2 ปีที่ผ่านมา แล้วก็ถ้าไม่เกิดอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงตอนนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ที่แย่ลงไปก็อาจจะเป็นตัวบ่งชี้บางอย่างที่จะทำให้เกิดขึ้นอีก 2 ปีข้างหน้าได้..” เรืองโรจน์ กล่าว
ขณะที่มิคกี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวไทยในเขตวอชิงตัน ดีซี บอกว่า การเลือกตั้งกลางเทอมมีผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆของรัฐบาลสะดุดได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงในสภา
“..มันจะมีผลต่อเราในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า ซึ่งคำว่า ‘มีผล’ หมายความว่า สมมุติถ้าตอนนี้คือรัฐบาลชุดนี้ มีเสียงสนับสนุนทั้งซีเนท กับเฮาส์ (วุฒิสภา และ สภาผู้แทนฯ) เป็นของฝ่ายเดโมแครต แต่ว่าถ้าเกิดผลการเลือกตั้งเกิดขึ้นมาแล้วเปลี่ยนเป็นของพรรคริพับลิกัน ทำให้เขาจะมีเสียงที่ไม่เท่ากันใช่ไหม คราวนี้ปัญหาก็คือเวลามีการออกกฎหมายใหม่ มีการออกสิ่งที่จะทำช่วยเหลือประชาชนในอนาคต มันก็จะทำให้ค่อนข้างยากขึ้น เพราะว่าถ้าทั้งสองสภาไม่ได้เป็นพรรคเดียวกันเวลาเขามาส่งข้อมูล ก็จะไม่เป็นในแนวทางเดียวกันแล้วก็จะทำให้นโยบายต่างๆ ต้องชะลอตัวมากขึ้น...”
แม้เห็นต่างการเมือง แต่เห็นร่วม ว่าคนไทย ‘ต้องออกไปใช้สิทธิ์’!!
ความเห็นต่างทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวไทยในสหรัฐฯหลายคนมองเห็นมีจุดร่วมเดียวกัน คือต้องให้ความสำคัญในการออกไปใช้สิทธิ์และมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งในทุกโอกาส
แวนด้า ปฐมฤทธิ์ เจ้าหน้าที่องค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไร ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ย้ำว่าการออกไปใช้สิทธิ์เพื่อเลือกตัวแทนท้องถิ่น หรือ พรรคการเมืองที่เข้าใจปัญหาของชุมชนไทยในอเมริกาเป็นเรื่องสำคัญ
“ เราคิดว่ามันสำคัญมากๆที่ชุมชนไทย ใช้สิทธิเสียงในการไปโหวต เพราะว่าผู้นำในเมืองของเรา เค้ามีบทบาทในการที่จะเป็นผลกระทบกับกฎหมายที่จะเป็นผลกระทบกับชุมชนของเราโดยเฉพาะ เราอยากจะส่งเสริมให้คนไทยใช้สิทธิ คนที่มีสิทธิ์ไปโหวต และก็ใช้เสียง เพราะเรามีโอกาสที่จะไปโหวตในทางที่มีอะไรที่แบบช่วยลดความเสี่ยงหรือกฎหมายที่ช่วยลดความเสี่ยงกับคนเอเชียเกี่ยวกับอาชญากรรมความเกลียดชังชาวเอเชีย (hate crime) “
“ผมคิดว่าส่วนตัวการเลือกตั้งนั้นสำคัญ เพราะว่าเราสามารถกำหนดได้ว่าคือคนไหนที่จะมาช่วยเราเพื่อสนับสนุนนโยบาย ในสิ่งที่เราเห็นด้วยตรงนี้ “ มิคกี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเชื้อสายไทยจากวอชิงตัน กล่าวกับ ‘วีโอเอ ไทย’
มันคือการตัดสินใจของเรา คือการเลือกของเรา รัฐบาลได้มาจากการเลือกของเรา..ชยันต์ นรพัลลภ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเชื้อสายไทยในสหรัฐฯ
ชยันต์ นรพัลลภ จากรัฐเวอร์จิเนีย บอกว่า สำคัญมากที่ต้องออกไปใช้สิทธิ์และลงคะแนนเสียงของตัวเอง
“เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เสียง เราก็ควรจะใช้ครับ ใช่ไหมครับ? เพราะว่าเขาจะได้ยินเสียงของเรา มันคือการตัดสินใจของเรา คือการเลือกของเรา รัฐบาลได้มาจากการเลือกของเราครับ” ชยันต์ ย้ำถึงความสำคัญของการใช้สิทธิ
ใช้สิทธิ์ รักษาสิทธิ์ ให้เสียงของเรา ‘ได้ยิน’
“..ถ้าเราคิดว่าเราอยากจะพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ แต่เราได้แต่คิดไม่ออกมาใช้เสียง มันก็ไม่มีอะไรที่จะดีขึ้น ทุกคนต้องออกมาใช้เสียงค่ะ..” ปฎิญญา ริกเตอร์ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเชื้อสายไทย จากแอชเบิร์น รัฐเวอร์จิเนีย
“..ถ้าเป็นคนไทย โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่เขตสวิงโหวต (รัฐที่มีคะแนนเสียงไม่แน่นอน) ที่คะแนนเสียงสามารถจะไปทั้งไปทางไหนก็ได้ก็ควรที่จะออกไปลงคะแนนให้มากๆครับ..” ฐิติ ศิรินพวงศากร ในเขตแฟร์แฟกส์ รัฐเวอร์จิเนีย กล่าว
“...ถ้าเราเป็นพลเมืองสหรัฐฯ มีสิทธิ์ลงคะแนน เราก็ควรจะไปออกเสียงเป็นหนึ่งในนั้น เพื่อที่จะได้ให้รัฐบาลทำงานให้เต็มที่แล้วก็ตอบโจทย์ความต้องการของเรา..” นิสา อุบลอ่อน จากเขตแอนนาเดล รัฐเวอร์จิเนีย บอกกับ ‘วีโอเอ ไทย’
ฉวีวรรณ ทองเปี้ย ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจากรัฐเวอร์จิเนีย ย้ำว่า ทุกคะแนนเสียงมีความหมายต่อทุกการเลือกตั้ง “ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งกลางเทอมหรือว่าเป็นฟูลเทอมนี่สำคัญหมดเลยนะคะ เพราะว่าคนที่เข้าไปก็คือเป็นคนสำคัญเป็นเสียงของพวกเราที่จะต้องไปให้ความเห็น ต้องไปให้รายละเอียดเกี่ยวกับว่าอันในที่เขาจะพัฒนาประเทศหรือว่าสิ่งไหนที่สำคัญที่สุดที่เขาจะต้องเป็นหัวข้อที่จะต้องไปพัฒนาค่ะ”
สัมมาวดี บุปผา ประธานสภาหอการค้าไทยจากนครซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย อยากจะเห็นเด็กๆรุ่นใหม่เชื้อสายไทย หรือ Young voters เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งมากขึ้น
“..อยากสนับสนุนให้เด็กๆไทย น้องๆ คนไทย ที่เกิดโตที่นี่ หรือเข้ามาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็ก เข้ามามีส่วนร่วมในการโหวต ร่วมในเรื่องของนักการเมือง ทุกๆอย่างเข้าไปเถอะ ไม่ต้องไปกลัวนะคะ ยิ่งเราเข้าไปมาก เค้าก็จะเข้ามาช่วยเหลือเราในยามที่ เราพาคนไทยไปชุมนุมกัน ให้เค้ามาช่วยเหลือตรงโน้นตรงนี้ เค้าก็จะมองเห็นเรามากขึ้นโดยเฉพาะตำรวจ ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องการ..” ประธานสภาหอการค้าไทยจากนครซานดิ กล่าว
Michelle Thangtamsatid ในฐานะคนเชื้อสายลูกครึ่งไทย- อเมริกัน ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่เสียงของพวกเราจะถูกได้ยินได้รับฟัง เพราะว่าเสียงของพวกเรามีความสำคัญ..
สำคัญมากๆที่ชุมชนไทย ใช้สิทธิเสียงในการไปโหวต เพราะว่าผู้นำในเมืองของเราเค้ามีบทบาทในการที่จะเป็นผลกระทบกับกฎหมายที่จะเป็นผลกระทบกับชุมชนของเราแวนด้า ปฐมฤทธิ์
เสียงคนเอเชียช่วยชี้ขาดเลือกตั้งใน ‘รัฐสมรภูมิ’
การเลือกตั้งกลางเทอมหรือ midterm election ของสหรัฐอเมริกาถือเป็นการเลือกตั้งครึ่งวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี แต่จะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ทั้งชุด 435 คน และวุฒิสมาชิราว 1 ใน 3 ของวุฒิสมาชิก 100 คน โดยในบางรัฐจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ และสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐ รวมไปถึงการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น
ข้อมูลจากองค์กรส่งเสริมการเลือกตั้งเพื่อชาวเอเชีย ระบุว่า คือ ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย หรื อเอเชียนอเมริกัน ถือเป็น กลุ่มประชากรที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐฯ โดยคิดเป็นสัดส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราวร้อยละ 5.5 หรือประมาณ 13 ล้านคน ขณะที่ในการเลือกตั้งในปี 2020 ที่ผ่านมา กลุ่มเอเชียนอเมริกันออกถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในสนามเลือกตั้งที่มีคะแนนคู่คี่ หรือที่เรียกกันว่า ‘รัฐสมรภูมิ’ (battleground states)