สัตว์ทะเลขนาดจิ๋วที่เรียกว่าเพรียงหัวหอมหรือ sea squirts อาจมีประโยชน์ในการศึกษามลพิษจากขยะพลาสติกในทะเล เพราะมันสามารถกรองเอาเศษพลาสติกขนาดจิ๋วออกจากน้ำทะเล เเล้วเก็บสั่งสมเอาไว้ในเนื้อเยื่ออ่อน
'เพรียงหัวหอม' มีลักษณะกลมเหมือนกับหัวหอมเเละขนาดใหญ่เท่ากับฝ่ามือผู้ใหญ่ เป็นสัตว์ทะเลที่มีเเกนสันหลังเเละจะพ่นน้ำเมื่อถูกสัมผัส มักเกาะติดตามก้นเรือ หรือ อาศัยเกาะกับวัตถุใต้น้ำ อาจอยู่แบบเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มก็ได้ มักพบตามเขตน้ำตื้นเเละแนวปะการัง โขดหิน ทราย หรือโคลนในทะเล
สัตว์ทะเลจิ๋วนี้พบทั้งในน้ำทะเลที่สกปรกในบริเวณพื้นที่อุตสาหกรรมเเละในน้ำทะเลที่สะอาดไร้สิ่งปนเปื้อน จึงสามารถใช้วัดคุณภาพน้ำเเละวิเคราะห์สิ่งสกปรกในน้ำ ตลอดจนผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ
ทุกปีมีขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลไหลลงไปอยู่ในมหาสมุทร องค์การสหประชาชาติรายงานว่า มีขยะในมหาสมุทรมากมายราวกับว่ามีรถขยะนำขยะไปทิ้งลงทะลหนึ่งคันต่อทุกหนึ่งนาที เป็นอัตราที่คาดว่าจะทำให้มหาสมุทรมีขยะมากกว่ามีปลาภายในอีก 30 ปี แต่ยังไม่มีใครเข้าใจผลกระทบในระยะยาวจากขยะในทะเล โดยเฉพาะขยะชิ้นเล็กๆที่เรียกว่า microplastic
Gal Vered แห่งมหาวิทยาลัย Tel Aviv กล่าวว่า เพรียงหัวหอมอาศัยอยู่ในน้ำทะเจุดเดียวตลอดชีวิต เเละทำหน้าที่กรองน้ำเหมือนกับเครื่องปั๊มน้ำ
Vered เป็นผู้ร่วมตีพิมพ์ผลการวิจัยนี้ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเร็วๆนี้ เธอบอกว่า สัตว์ทะเลขนาดจิ๋วนี้ยังช่วยให้คนเราเข้าใจถึงสภาพของแนวปะการังเเละระบบนิเวศวิทยาทั้งหมดว่าเป็นอย่างไรตลอดช่วงชีวิตของมัน
นอกจากนี้ เพรียงหัวหอมยังเกี่ยวข้องกับกับการวิวัฒนาการของมนุษย์อีกด้วย ดังนั้นการศึกษาสัตว์ชนิดนี้เเละพลาสติกที่อยู่ในตัวของมันอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ความเข้าใจมากกว่าการศึกษาสัตว์อื่นๆ เช่นปลาเเละหอย
Vered กับเพื่อนร่วมงานในทีมวิจัย Noa Shenkar กำลังศึกษาตัวอาซีเดี่ยน เพื่อดูว่าพลาสติกมีผลกระทบต่อสัตว์ชนิดนี้อย่างไรบ้าง
Shenkar ผู้เชี่ยวชาญแห่งภาควิชาสัตววิทยา มหาวิทยาลัย Tel Aviv กล่าวว่า เเม้ว่าคนเรากับสัตว์ทะเลชนิดนี้จะมีหน้าตาไม่เหมือนกันเลย เเต่ก็มีระบบในร่างกายที่คล้ายกัน
Shenkar บอกว่า คนกับเพรียงหัวหอม ซึ่งเป็นสัตว์ประเภท ascidians จัดว่าอยู่ในกลุ่มไฟลัมเดียวกัน เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง เเม้จะมีหน้าตาไม่เหมือนกันเลย เเต่ก็มีระบบต่างๆ ในร่างกายคล้ายๆ กัน
ดังนั้นการศึกษาผลกระทบของพลาสติกต่อสัตว์ทะเลขนาดจิ๋วนี้อาจช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าพลาสติกอาจมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่ในไฟลัมเดียวกัน และสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ อย่างไร
พลาสติกจะไม่มีวันหายไป และยิ่งเวลาผ่านไปพลาสติกจะแยกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กลายเป็น microplastics มีขนาดเท่ากับเม็ดข้าวและเล็กกว่า
Vered กล่าวว่า สัตว์ทะเลกินพลาสติกเหล่านี้ ซึ่งเข้าไปอุดตันอยู่ในท้องของสัตว์ สารเคมีจากพลาสติกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเเละเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารตามมา
เธอกล่าวว่า พลาสติกเป็นความสำเร็จทางนวัตกรรมของมนุษย์ตรงที่ไม่มีวันหายไปเเละอาจคงทนอยู่ตลอดไป เธอบอกว่าเป็นเรื่องน่าขันที่มนุษย์สร้างวัสดุที่สามารถคงทนอยู่ได้นานหลายร้อย หลายพันปี เเต่เรากลับใช้งานวัสดุนี้เพียงครั้งเดียวเเล้วทิ้งไปซึ่งสร้างความขัดแย้งกันในตัว
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)