ตอนที่ทวีปอเมริกาใต้เคลื่อนตัวแยกออกจากทวีปแอฟริกาเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว บรรดานักวิทยาศาสตร์ชี้ว่ามีสัตว์ทะเลนักล่าเหยื่อที่ดุร้ายเเละสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลชนิดอื่นๆ มากมาย เริ่มเข้าไปอาศัยในพื้นที่ทะเลแห่งใหม่ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นนอกชายฝั่งของแองโกล่า (Angola)
มาทุกวันนี้ นักบรรพชีวินต่างกำลังศึกษาซากฟอสซิลที่ขุดพบตามเหวต่างๆ ตามแนวชายฝั่งทะเลที่แองโกล่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือกันระหว่างทีมนักวิจัยจากแองโกล่า อเมริกา โปรตุเกส เเละเนเธอร์เเลนด์ ที่เรียกว่า Projecto PaleoAngola
หลุยส์ เจคอบส์ ศาสตราจารย์แห่งมห่าวิทยาลัย Southern Methodist กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทีมนักวิจัยรู้ว่ามีซากฟอสซิลที่นั่น แต่ไม่รู้ว่าเป็นฟอสซิลที่ดีแค่ไหน และเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่เเละไม่มีใครรู้จัก
เจคอบส์เป็นสมาชิกของทีมนักวิทยาศาสตร์และนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย Southern Methodist ที่มีส่วนช่วยในการเตรียมซากฟอสซิลเหล่านี้ในการจัดนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งสถาบันสมิธโซเนียน ในกรุงวอชิงตัน
เขากล่าวว่า ในงานนิทรรศการนี้ ผู้เข้าชมคนใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่สามารถชมเเละเปรียบเทียบระบบนิเวศวิทยาเเละสัตว์ทะเลโบราณในยุคครีเทเชียสเมื่อ 72 ล้านปีที่แล้ว กับระบบนิเวศวิทยาในปัจจุบันว่ามีความคล้ายกันอย่างไร
ไมเคิล พอลซิน (Michael Polcyn) นักวิจัยทุนอาวุโสที่มหาวิทยาลัย Southern Methodist ยกตัวอย่างซากฟอสซิลของปลาขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่นำมาจัดแสดง โดยปลาชนิดนี้มีปากที่เรียวยาวเเละมีฟันเหมือนกับปลาโลมาในปัจจุบัน เขากล่าวว่าซากฟอสซิลปลาชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่เยี่ยมมากที่เเสดงให้เห็นถึงความแตกต่างหลายอย่างระหว่างสัตว์ทะเลโบราณต่างเหล่านี้
เขากล่าวว่า ปลาชนิดนี้มีลักษณะของฟันที่เเข็งเเร็งเพื่อกินเหยื่อที่มีเปลือกเเข็งอย่างหอยนางรมตัวใหญ่ได้ ฟันของมันมีลักษณะประหลาดมากเพราะมีรูปร่างเหมือนกับเห็ด และว่า ภายในระบบนิเวศวิทยาเดียวกัน มีสัตว์ล่าเหยื่อตัวยงอยู่ด้วย อย่าง Prognathodon kianda เเละซากฟอสซิลของมันมีความยาวราว 25 ฟุต หรือ เกือบ 8 เมตร
นอกเหนือจากสัตว์นักล่าเหยื่อระดับฉกาจ อย่าง โมซาซอร์ ที่เหมือนกับจอมปีศาจเเล้ว นิทรรศการนี้ยังนำซากฟอสซิลของสัตว์ที่มีความอ่อนโยนมาให้ชมกันด้วย รวมทั้งซากฟอสซิลของเต่าทะเลยักษ์โบราณ
บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ก้อนอุกาบาตยักษ์ที่พุ่งชนโลกเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว ทำให้สัตว์โบราณจำนวนตายเเละสาบสูญไปเเละได้เตือนว่ากิจกรรมของคนเราปัจจุบันกำลังคุกคามต่อระบบนิเวศวิทยาของโลกสมัยใหม่
หลุยส์ เจคอบส์ กล่าวว่า โลกเรากำลังมีประชากรเพิ่มขึ้นตลอดเวลาทั่วโลกและจำเป็นต้องหาอาหารเลี้ยงปากท้อง นำไปสู่การประมงเกินพอดี นักวิจัยอเมริกันชี้ว่า เราได้บทเรียนว่าคนเราเป็นผู้ที่กำลังทำลายระบบนิเวศวิทยาที่มีความอ่อนไหวของโลกในขณะนี้
เเละเราไม่จำเป็นต้องมีลูกอุกาบาตพุ่งชนโลก เพราะมนุษย์เรานี่เองที่มีศักยภาพในการทำลายล้างสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินพอดี
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)