การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น สภาพการทำงานที่ดีขึ้น รวมทั้งการยุติการเลือกปฏิบัติกับแรงงานชั่วคราวหรือแรงงานต่างชาติ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนของการเดินขบวนในวันแรงงานสากล หรือที่เรียกกันว่า May Day ทั่วทุกมุมโลกในปีนี้
เริ่มที่ฝรั่งเศส ที่เปิดให้มีการเดินขบวน โดยมีเจ้าหน้าที่ 7,400 นายคอยดูแลความเรียบร้อย แต่ตำรวจปราบจลาจลต้องใช้แก็สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมในวันแรงงาน เมื่อผู้ประท้วงวันแรงงานผสมกับกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองและผู้ประท้วงต่อต้านตำรวจ เริ่มขว้างปาก้อนหินและทุบทำลายรถยนต์ในพื้นที่ประท้วง โดยจับกุมผู้ประท้วงได้ 165 คนในวันเดียว
ส่วนที่กรีซ การเดินขบวนวันแรงงานกระทบการจราจรทุกเส้นทางในกรุงเอเธนส์เมื่อวันพุธ ขณะที่แรงงานในสเปน ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศผลักดันเศรษฐกิจและการปฏิรูปการคลังของประเทศ
ข้ามมาที่รัสเซีย ชาวรัสเซียราว 100,000 คน เดินขบวนวันแรงงานกันทั่วประเทศ มีรายงานการจับกุมผู้ประท้วงกว่า 100 คนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนอดีตผู้นำฝ่ายค้าน
ไปที่เอเชียกันบ้าง แรงงานเกาหลีใต้ สวมผ้าคาดศีรษะและชูกำปั้นกันที่กรุงโซลเมืองหลวง เรียกร้องให้ยกระดับสภาพแวดล้อมการทำงาน และขอให้มีการปฏิบัติกับแรงงานชั่วคราวอย่างเท่าเทียม และที่บังคลาเทศ แรงงานหลายร้อยคน เคลื่อนไหวในกรุงธากา เพื่อขอให้มีวันหยุดลาคลอด 6 เดือน และมีมาตรการป้องกันการคุกคามหรือความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน ส่วนศรีลังกายกเลิกการเดินขบวนเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย หลังเหตุโจมตีวันอีสเตอร์ ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 253 คน
ทั้งนี้ การเดินขบวนวันแรงงานในอดีต เริ่มต้นจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานในสหรัฐฯ ช่วงปีคริสตทศวรรษที่ 1880 ก่อนจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแรงงานทั่วโลก ที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้รับค่าแรงต่ำ ระบบป้องกันความปลอดภัยให้แรงงานน้อย และแรงงานไม่มีสิทธิ์มีเสียงกับนายจ้างมากพอ แต่ในปัจจุบัน การเดินขบวนในวันแรงงานสากล มักแฝงมาด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจและการเมืองในแต่ละประเทศ