ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Surgery โดยทีมนักวิจัยแห่งวิทยาลัยการแพทย์ Perelman มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ค้นพบว่าผู้ป่วยที่หย่าร้าง แยกกันอยู่กับคู่สมรสหรือคู่สมรสเสียชีวิต มีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นราว 40 เปอร์เซ็นต์ที่จะเสียชีวิตหรือเกิดอาการพิการอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงสองปีแรกหลังเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ สูงกว่าผู้ป่วยที่ยังมีคู่สมรสอยู่
Doctor Mark Neuman สมาชิกทีมวิจัยชี้ว่า นักวิจัยยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมการแต่งงานมีคู่สมรสจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพักฟื้นของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหัวใจ
เขากล่าวว่าความเข้าใจเกี่ยวกับความเกี่ยวโยงนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ในการระบุได้ว่าผู้ป่วยคนใดต้องการความช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดมากที่สุด และช่วยนำไปสู่การคิดค้นวิธีแทรกแซงทางการแพทย์ ที่มุ่งกระตุ้นการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดหัวใจแก่คนไข้เหล่านี้
ในการศึกษา ทีมนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากการผ่าตัดหัวใจมากกว่า 1500 คน และพบว่า 65 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ป่วยที่แต่งงานมีคู่สมรส 12 เปอร์เซ็นต์หย่าร้างหรือแยกกันอยู่กับคู่สมรส ส่วน 21 เปอร์เซ็นต์เป็นหม้ายเพราะคู่สมรสเสียชีวิต และอีก 2 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยเเต่งงาน
ทีมนักวิจัยพบว่าหนึ่งปีหลังการผ่าตัด 19 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่แต่งงาน 29 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่หย้าร้างหรือแยกกันอยู่ 39 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่เป็นหม้าย และ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่ไม่เคยแต่งงาน เสียชีวิตลงหรือเกิดอาการพิการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันอย่างง่ายๆได้
การศึกษานี้เป็นการศึกษาขยายผลการศึกษาชิ้นก่อนหน้าที่ชี้ว่า กำลังใจที่ผู้ป่วยได้รับจากคนรอบข้างโดยเฉพาะจากคู่สมรส ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดลง
แต่ทีมนักวิจัยเตือนว่ายังจำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น และชี้ชัดถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการสมรสกับการพักฟื้นตัวของคนไข้หลังการผ่าตัดหัวใจ
Dr. Ashish Shah หัวหน้าแผนกผ่าตัดหัวใจที่ Vanderbilt University Medical Center กล่าวกับ ABC News ว่าผู้ป่วยที่มีคนใกล้ชิดคอยดูแลเอาใจใส่ จะฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้ดีกว่าคนไข้ที่ขาดคนใกล้ชิดคอยดูแล
ผู้เชี่ยวชาญคนนี้ชี้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรหาทางช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่มีคู่สมรสหรือเป็นหม้ายได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนอื่นแทน เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้นและมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น
Dr. Ashish Shah กล่าวกับ ABC News ว่า เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าคนไข้ที่มีคนใกล้ชิดเอาใจใส่ดูแลและให้กำลังใจ จะฟื้นตัวได้ดี ตนเองเห็นว่าแพทย์ผ่าตัดหัวใจส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ความเครียดทางจิตใจมักสร้างความซับซ้อนทางการแพทย์แก่การผ่าตัด