การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Scientific Reports เผยข้อมูลการบันทึกวิดีโอสอดส่องพฤติกรรมของช้างพลายป่าแอฟริกัน 1,264 ครั้ง ที่เดินทางไปยังแม่น้ำโบเตติ ในบอสวานา ช่วงปี ค.ศ. 2017-2018 และพบว่าช้างพลายป่าที่อายุน้อยไม่ได้อยู่ลำพัง และมักจะอยู่ร่วมกับฝูงช้างพลายที่แก่กว่าเสมอ
โดยปกติแล้วเข้าใจกันว่า ช้างเพศเมียที่มีวุฒิภาวะและมีประสบการณ์ จะเป็นผู้นำที่รวมฝูงช้างป่าเข้าไว้ด้วยกัน แต่จากการศึกษาชิ้นล่าสุดนี้ ได้หักล้างข้อสังเกตเดิมที่ว่าช้างเพศผู้เป็นสิ่งมีชีวิตที่รักการอยู่แบบสันโดษ และมักจะย้ายออกจากฝูงของแม่เมื่อมีอายุได้ 10-20 ปี เพราะในการศึกษานี้พบว่า ช้างพลายอายุน้อย จะเลือกอาศัยอยู่กับช้างพลายที่อายุมากกว่า
ทีมวิจัยพบว่า ช้างตัวผู้อายุน้อย จะติดสอยห้อยตามช้างป่ารุ่นพี่ไปทุกหนทุกแห่ง และช้างพลายอาวุโสจะมีบทบาทสำคัญต่อสังคมช้างที่สลับซับซ้อนนี้ด้วย รายงานชิ้นนี้นับเป็นครั้งแรกที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมช้างป่าในแอฟริกาและการศึกษานี้ยังลงลึกไปถึงพฤติกรรมของช้างเอเชียในรูปแบบเดียวกันด้วย
ไดอานา ไรส์ ผู้อำนวยการโครงการด้านพฤติกรรมสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ จาก Hunter College ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยชิ้นใหม่นี้ มองว่า ช้างเพศผู้ที่มีวุฒิภาวะจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำฝูงอยู่เสมอ
ถ้าเปรียบเทียบกับสังคมมนุษย์ คนรุ่นปู่หรือตาจะได้รับการเคารพนับถือจากผลงานในอดีตที่พวกเขาสั่งสมมา เช่น การช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรหลาน และส่งต่อความรู้ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาหลายทศวรรษให้กับลูกหลาน และพฤติกรรมการให้คุณค่าแก่คนสูงอายุกว่า ปรากฏในสังคมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น อย่างเช่น โลมา วาฬ และช้าง
คอนนี่ แอลเลน นักชีววิทยาผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ เพิ่มเติมว่านักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจถึงรูปแบบฝูงช้างที่นำโดยช้างเพศเมียมาโดยตลอด แต่ช้างเพศผู้มีชีวิตสังคมที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก และการเข้าร่วมกลุ่มของพวกมันไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มก้อนทางสายเลือดเท่านั้น
แอลแลน ยกตัวอย่างพฤติกรรมของช้างพลายในวัยหนุ่มจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกส่งไปอยู่ในอุทยานที่ Pilanesberg ในแอฟริกาใต้ ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ในช่วงแรกช้างหนุ่มเหล่านี้มีพฤติกรรมก้าวร้าว และสังหารแรดขาวไปกว่า 40 ตัว แต่พฤติกรรมของพวกมันเริ่มเปลี่ยนไป หลังจากมีช้างที่อาวุโสกว่า 6 ตัวเข้ามาอยู่ร่วมในอุทยานแห่งนี้
คาร์ล ซาฟีนา นักนิเวศวิทยาจาก Stony Brook University ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในการศึกษาชิ้นนี้ บอกว่า ช้างอาวุโสจะมีบทบาทในการสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคมช้างได้
อย่างไรก็ตาม ช้างป่าอายุมากตกเป็นเป้าหมายของผู้ค้าสัตว์ป่า ที่ออกล่างาช้างขนาดใหญ่ของช้างพลายป่าโตเต็มวัย ทางทีมวิจัย จึงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแผนการอนุรักษ์ช้างป่าที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ช้างป่าอาวุโสเข้ามาด้วย