ลิ้งค์เชื่อมต่อ

5 วิธีเดินหน้า ‘ปณิธานปีใหม่’ อย่างไม่น่าเบื่อ


แฟ้ม - ภาพเมื่อ 1 ม.ค. 2019 หมวกสวัสดีปีใหม่ กองอยู่บนพื้นที่เปียกชื้น ในไทม์สแควร์ นิวยอร์ก (AP Photo/Tina Fineberg, File)
แฟ้ม - ภาพเมื่อ 1 ม.ค. 2019 หมวกสวัสดีปีใหม่ กองอยู่บนพื้นที่เปียกชื้น ในไทม์สแควร์ นิวยอร์ก (AP Photo/Tina Fineberg, File)

เข้าสู่รุ่งอรุณแห่งปีใหม่ หลายคนมองเห็นโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง และอาจมีการกำหนดเป้าหมายหรือปณิธานปีใหม่ขึ้นมา แต่ในการศึกษาชี้ว่า 70% ของผู้คนโดยทั่วไปทิ้งปณิธานปีใหม่ไปในเวลาไม่กี่เดือนแรกของปี

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเดือนมกราคมคือช่วงเวลาที่ดีในการพัฒนาตัวเองให้เป็นเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น แต่อาจต้องลงแรงเพื่อให้ปณิธานปีใหม่ยังคงอยู่ยืนยาวไปได้ทั้งปี ด้วย 5 วิธีดังนี้:

เริ่มต้นแบบเล็ก ๆ

นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรม ลินน์ บุฟกา และผู้ช่วยฝ่ายวิจัยและนโยบาย จาก American Psychological Association บอกกับเอพีว่า จงมองภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับปณิธานที่ตั้งไว้ เช่น อย่าบอกว่าจะลดน้ำหนัก 50 ปอนด์ และจะไม่กินของหวานอีกต่อไป แต่อาจพูดว่าจะกินของหวานช่วงสุดสัปดาห์และในโอกาสพิเศษเป็นพอ

นอกจากนี้ ให้เปลี่ยนปณิธานใหญ่เป็นเป้าหมายแบบย่อม ๆ ที่สามารถทำได้ เช่น เปลี่ยนขนมเป็นผักหรือผลไม้ หรือออกกำลังกาย 10 นาทีทุกวัน เมื่อทำเป้าหมายเล็ก ๆ ได้เป้าหมายใหญ่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

คิดบวกเข้าไว้

บุฟกา บอกว่า มันยากที่จะเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ดังนั้นการคิดบวกเกี่ยวกับเป้าหมายสูงสุดของตัวเองมากขึ้น และสิ่งที่จะได้รับหากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น ๆ จะช่วยกระตุ้นให้ทำตามเป้าหมายต่อไปได้

เธอยกตัวอย่างว่า หากใส่เงินลงไปในโหลในส่วนที่อาจจะนำไปใช้ซื้อช็อคโกแลตทุกวัน เงินก้อนนั้นจะเริ่มงอกเงยขึ้นมา

นอกจากนี้ อย่าลืมสนใจสิ่งที่ช่วยทำให้เป้าหมายประสบความสำเร็จ มากกว่าอุปสรรคที่จะขัดขวาง จะเป็นการปรับมุมมองความคิดเราได้

เน้นที่เป้าหมายต่าง ๆ

การศึกษาเรื่องปณิธานปีใหม่ที่เผยแพร่เมื่อปี 2020 ชี้ว่า ผู้คนที่สนใจเป้าหมายเฉพาะเจาะจงจะประสบความสำเร็จมากกว่าการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีของตนเอง

โดยการศึกษาที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มคนกว่า 1,000 คน พบว่า ปณิธานปีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก หรือปรับพฤติกรรมการกิน เป็นเป้าหมายยอดนิยม ส่วนปณิธานอื่น ๆ มีทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาตนเอง การแก้ปัญหาการเงินส่วนบุคคล และจัดการสุขภาพจิตและความเครียด

โดย 55% ของผู้คนในการศึกษา เผยว่ายังทำปณิธานต่อไปหลังพ้น 1 ปีไปแล้ว และเกือบ 60% ของคนกลุ่มนี้ตั้งปณิธานอย่างมีเป้าหมาย ขณะที่ 47% ของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำตามปณิธานของพวกเขาเน้นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง

เขียนชื่อเพื่อนฝูงและจดบันทึกในตารางชีวิตด่วน ๆ

ดึงคนใกล้ตัวมาช่วยสานปณิธานให้สำเร็จ หาคนที่สนับสนุนและช่วยดึงสติกลับมา อาจช่วยได้ อย่างเช่น ลองหาคนที่อยากออกกำลังกายเพิ่มเติมในปีนี้ แล้วมาตั้งกลุ่มไปวิ่งหรือไปยิมด้วยกัน และอย่าลืมจดลงตารางชีวิตในปฏิทินเพื่อช่วยให้เดินหน้าปณิธานไปได้ทั้งปี

ใจดีกับตัวเองบ้าง

การเปลี่ยนแปลงอาจจะยาก ดังนั้นอย่าคาดหวังความสมบูรณ์แบบ และเราไม่อาจหลีกหนีช่วงเวลาที่อยากจะยอมแพ้กับเป้าหมายของตน

ทามารา รัสเซลล์ จาก British Psychological Society บอกกับเอพีว่า “ปณิธานที่ยิ่งใหญ่ อาจจะเป็นว่า “ฉันจะค่อย ๆ ตัดสินตัวเองน้อยลง” การวิจัยพบว่าเมื่อเรามีความเมตตากับตัวเองมากขึ้น เราจะมีจิตใจที่เมตตากับคนอื่นและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้นเช่นกัน”

ท้ายสุด หาก 1 มกราคมดูเป็นวันที่เกินจริงในการตั้งปณิธานปีใหม่ อาจจะเปลี่ยนให้เข้ากับตารางชีวิตตนเองก็ได้ เช่น ฤดูใบไม้ผลิที่เป็นช่วงเวลาและการเติบโตและเริ่มใหม่ อาจเป็นเวลาที่ดีในการเปลี่ยนแปลงชีวิตก็ได้ และอย่าลืมประเมินตัวเองทุกสัปดาห์ในสิ่งที่ทำได้ดีและต้องปรับปรุงแก้ไข

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG