วันที่ 1 มกราคม เป็นวันที่หลายคนมักจะใช้เป็นวันตั้งปณิธาน เป้าหมายใหม่ในชีวิต หรือที่เรียกว่า New Year’s resolutions เพื่อปรับเปลี่ยนชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น ศูนย์วิจัย Pew Research Center พบว่าประมาณหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งของคนอเมริกัน ตั้งปณิธานในวันแรกของปีใหม่เช่นกัน
บทความในนิตยสาร The Atlantic รายงานว่าเป้าหมายของผู้คนส่วนใหญ่ มักจะมีความคล้ายคลึงและคาดเดาได้ เช่น ในปี 2019 การสำรวจหนึ่งพบว่ามีคนประมาณ 51 เปอร์เซ็นต์ตั้งใจว่าจะเก็บเงินและใช้หนี้ให้มากขึ้น ผู้คนครึ่งหนึ่งเช่นกันที่ตั้งปณิธานว่าจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น ออกกำลังมากขึ้น และรีดน้ำหนักลงให้ได้
แต่อัตราความสำเร็จของปณิธานเหล่านี้กลับน้อยกว่าครึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปเพียงครึ่งปี หากสังเกตจากข้อมูลการตลาด จะพบว่ายอดการสมัครเป็นสมาชิกฟิตเนสจะพุ่งสูงขึ้นหลังปีใหม่ ก่อนที่จำนวนคนที่เข้าไปออกกำลังกายจะลดฮวบฮาบภายในสัปดาห์ที่สามของมกราคม และหลังจากนั้นอีก 8 เดือน ประมาณครึ่งหนึ่งของสมาชิกใหม่ก็มักจะยุติการไปฟิตเนสไปโดยปริยาย
The Wall Street Journal รายงานโดยอ้างผลโพลของ แกลลัป (Gallup) พบว่ามีคนประมาณถึง 80% ที่ล้มเลิกเป้าหมายของตนไปภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์
ปณิธานปีใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เพราะปณิธานหรือความตั้งใจที่พัฒนาหรือปรับปรุงตัวเองด้านใดด้านหนึ่ง มักจะทำให้ผู้คนต้องเสียสละความสะดวกสบาย สิ่งที่เคยชอบ หรือต้องปรับเปลี่ยนชีวิตขนานใหญ่
หลายคนจึงมักจะเสาะหาวิธีการที่สร้างสรรค์เพื่อช่วยให้ตนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จอห์น นอร์ครอส (John Norcross) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแครนตัน (University of Scranton) ได้วิเคราะห์วิธีการเหล่านี้ ก่อนจะค้นพบพฤติกรรมหรือนิสัย 4 ประการที่จะทำให้ผู้คนสามารถทำตามปณิธานปีใหม่ได้สำเร็จ
ศ.นอร์ครอส ระบุว่าการคิดบวกและสร้างนิสัยในเชิงบวก มีผลต่อการบรรลุเป้าหมายมาก ซึ่งนิสัยเชิงบวก 4 ประการที่เขาแนะนำคือ 1. การให้คำมั่นสัญญากับตนเองว่าจะมุ่งมั่นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตน 2. การให้รางวัลตนเองสำหรับความสำเร็จในแต่ละขั้น 3. การเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้ออกห่างจากเป้าหมาย และ 4. การคิดเชิงบวก เช่น การคำนึงถึงเป้าหมายและความสำเร็จ
อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสแครนตันยังพบว่าการไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้นั้น มักจะเกี่ยวพันกับความคิดเชิงลบ เช่น การหมกมุ่นอยู่กับผลเสียของพฤติกรรมเก่า ๆ ที่เราไม่ต้องการ การลงโทษหรือก่นด่าตัวเองที่บางครั้งไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้ หรือการลดความสำคัญของปณิธานที่ตั้งไว้ลงเรื่อย ๆ
ศ.นอร์ครอส มองว่าอันตรายอย่างหนึ่งต่อการตั้งปณิธาน ก็คือ การบ่อนทำลาย ที่เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การทุ่มเงินโหมโฆษณาของบริษัทผลิตบุหรี่เพื่อต้องการล้มเลิกปณิธานการเลิกสูบบุหรี่ของใครหลายคน หรือแม้แต่การบ่อนทำลายแบบตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจของบุคคลรอบตัว เช่น คนใกล้ตัวที่หันมาเริ่มอบคุ้กกี้ในช่วงที่เราอยากลดน้ำหนัก เป็นต้น
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมอย่าง บี เจ ฟ็อกก์ (BJ Fogg) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Tiny Habits แนะนำว่าการสร้างนิสัยใหม่ให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องใช้การ “ลด-ลงมือทำ-ฉลอง”
โดยการ “ลด” ขนาดของนิสัยใหม่ให้อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้จริง ๆ เช่น ตั้งเป้าว่าจะวิดพื้นวันละ 10 ครั้งแทนที่จะเป็นวันละ 100 ครั้ง “ลงมือทำ” ด้วยวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่นจะวิดพื้นตอนเช้า หรือตอนเย็น และ “ฉลอง” ความสำเร็จของตัวเองหลังจากที่ได้เริ่มสร้างนิสัยใหม่ แต่ต้องไม่ใช่การฉลองจนเกินควร
อาร์เธอร์ ซี บรู้คส์ (Arthur C. Brooks) ผู้เขียนบทความนิตยสาร The Atlantic ซึ่งยังเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้ดำเนินรายการพอดแคสท์ “ศิลปะแห่งความสุข” แนะนำว่าปณิธานสองอย่างที่จะนำไปสู่ความสุขในปีใหม่นี้ นั่นคือ การให้อภัย และการรู้จักเห็นคุณค่าและซาบซึ้งกับสิ่งต่าง ๆ
การไม่ให้อภัย เปรียบได้กับการกอดกองขยะเอาไว้ ดังนั้น การให้อภัยจึงทำให้ผู้คนมีความสุขมากขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มความรู้สึกมีหวัง ช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าของตัวเอง และยังช่วยลดความรู้สึกกังวลกระวนกระวายและภาวะจิตใจหดหู่อีกด้วย
ส่วนการรู้จักเห็นคุณค่า หรือการสำนึกบุญคุณของสิ่งต่าง ๆ ที่แต่ละคนมีหรือได้รับ สามารถเพิ่มความสุขให้ผู้คนได้เช่นกัน แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิต เช่นในช่วงการระบาดของโควิด-19
ในปี ค.ศ.2003 มีการทดลองให้คนกลุ่มหนึ่งจดรายการของสิ่งหรือเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกโชคดี ในขณะที่อีกกลุ่มนั้นให้บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในชีวิตประจำวันหรือปัญหาต่าง ๆ ในเวลาสิบสัปดาห์ต่อมา พบว่ากลุ่มแรกมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่ากลุ่มที่สองมาก
ทั้งนี้ The Wall Street Journal รายงานโดยอ้างข้อมูลจากงานวิจัยว่า การสร้างนิสัยใหม่ให้สำเร็จนั้น ใช้เวลา 66 วัน เพราะฉะนั้นหากใครตั้งปณิธานว่าจะสร้างนิสัย หรือพฤติกรรมใหม่ในวันที่ 1 มกราคม และสามารถทำได้ต่อเนื่องเป็นประจำจนถึงวันที่่ 7 มีนาคม นิสัยใหม่นั้นจะหยั่งรากสร้างความมั่นคงกลายเป็นนิสัยประจำตัวไปในที่สุด