เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำเนียบเครมลินปฏิเสธรายงานที่ว่า รัสเซียใช้อาวุธที่ผลิตโดยอิหร่านในการทำสงครามในยูเครน โดยผู้สื่อข่าวสอบถาม ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในเรื่องนี้ และได้รับคำตอบว่า
“เปล่า เราไม่ได้มีข้อมูลเรื่องนี้ มีการใช้แต่อุปกรณ์ของรัสเซีย อย่างที่ทุกท่านทราบ ว่า มีชื่อรัสเซียติดอยู่”
ประเด็นนี้ ถือเป็น ความเท็จ
หลักฐานทั้งที่เป็นภาพถ่ายและทางนิติวิทยา รวมทั้งรายงานจากสื่อและหน่วยงานข่าวกรอง ยืนยันว่า นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัสเซียใช้โดรน Shahed (ชาเฮด) และ Mojaher (โมจาเฮร์) ของอิหร่านมาต ลอด
กระทรวงกลาโหมยูเครนรายงานการโจมตีของรัสเซียด้วยโดรน Shahed-136 ในเมืองคูเพียนสก์ เขตปกครองคาร์คิฟ เมื่อวันที่ 13 กันยายน และกล่าวว่า รัสเซียพยายามปิดบังการใช้โดรนของอิหร่านด้วยการใช้ชื่อ M412 Geran-2 แทน
ยูเครนทำการเก็บกู้ซากโดรนที่ถูกส่งเข้ามาโจมตีได้ และส่งภาพหลักฐานว่า อาวุธดังกล่าวถูกผลิตในอิหร่านจริง ให้กับสื่อทั้งหลายด้วย
หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานเมื่อวันที่ 17 กันยายน ว่า “ผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ทำการศึกษาภาพถ่ายของซากโดรนเมื่อเร็ว ๆ นี้ จากเขตปกครองคาร์คิฟ กล่าวว่า (ซากดังกล่าว) ดูเหมือนโดรน Shahed-136 ซึ่งเป็นพัฒนาการล่าสุดของงานออกแบบ(อุปกรณ์)ปีกสามเหลี่ยมของกรุงเตหะราน”
กระทรวงกลาโหมยูเครนรายงานในวันพุธว่า กองกำลังยูเครนยิงโดรน Shahed-136 ที่ทำในอิหร่านและรัสเซียส่งมาโจมตีเมืองต่างๆ ของยูเครนตกไปถึง 223 ลำ นับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา
ศูนย์ National Resistance Center ภายใต้กองกำลังปฏิบัติการพิเศษของยูเครน รายงานในวันอังคารว่า อิหร่านส่งผู้ฝึกสอนอย่างน้อย 20 คนมายังยูเครนเพื่ออบรบและช่วยกองทัพรัสเซียยิงโดรนที่ว่านี้แล้ว โดยระบุว่า “ครูสอนเหล่านี้ถูกส่งตัวมายังพื้นที่ฝึกสอนชาอูดา (Chauda) ในสนามบินทหารคิรอฟสกี ใกล้ ๆ กับแหลมทาร์ข่านคุต [ไครเมีย]”
กระทรวงกลาโหมยูเครนยังระบุในรายงานที่ออกมาในวันพุธ โดยอ้างข้อมูลข่าวกรอง ว่า รัสเซียสั่งซื้อโดรนอย่างน้อย 2,500 ลำจากอิหร่าน และว่า “[โดรน] Shahed-136 กลายมาเป็นวิธีการที่สหพันธรัฐรัสเซียใช้ในยุทธวิธีโจมตีอย่างต่อเนื่องเข้าใส่เมืองต่าง ๆ ของยูเครน
รายงานยูเครนนั้นสอดคล้องกับข้อมูลจากหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น กระทรวงกลาโหมอังกฤษที่รายงานเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมว่า รัสเซียใช้โดรน “ที่ผลิตในอิหร่าน” ยิงใส่ยูเครน “อย่างน้อยตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีนี้เป็นต้นมา”
หนังสือพิมพ์ The Washington Post รายงานโดยอ้างข้อมูลจาก “เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ และพันธมิตร” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมว่า อิหร่านเริ่มจัดส่งโดรน Shahed-136 และ Mojaher-6 “จำนวนมากมาย” ให้กับรัสเซียในเดือนสิงหาคม และว่า อิหร่าน “ขยายบทบาทของตนในฐานผู้จัดหาอาวุธให้รัสเซียอยู่” และนำส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่รวมถึง “ขีปนาวุธแบบพื้นสู่พื้น 2 แบบ” และโดรนอื่น ๆ โดยคณะผู้แทนของอิหร่านทำการสรุปข้อตกลงซื้อขายอาวุธทั้งหมดในกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 18 กันยายน
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมยูเครนกล่าวว่า โดรน Shahed-136 ของอิหร่านนั้นมีความสามารถบรรทุกระเบิดติดตัวไว้ได้และสามารถตั้งค่าให้บินลอยตัวไว้จนเข้าใกล้เป้าหมายถึงจะทิ้งตัวพุ่งเข้าใส่ได้ โดยโดรนรุ่นนี้มีความยาว 11.5 ฟุต ความกว้าง 8 ฟุต น้ำหนัก 440 ปอนด์ เครื่องยนต์ 50 แรงม้า และความสามารถบินเป็นระยะทางสูงสุดถึง 1,500 ไมล์ แต่ไม่มีกล้องติดตัว
และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ PBS ของสหรัฐฯ ออกอากาศรายงานที่อธิบายว่า รัสเซียได้ประโยชน์จากการใช้โดรนของอิหร่าน ในด้านการประหยัดงบประมาณ:
“ในราคาเพียงลำละ 20,000 ดอลลาร์ Shahed มีต้นทุนเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับขีปนาวุธขนาดและแบบปกติ ยกตัวอย่างเช่น ขีปนาวุธแบบร่อน คาลิเบอร์ (Kalibr) ของรัสเซียที่ใช้งานกันอย่างกว้างขวางในช่วงเกือบ 8 เดือนของสงครามยูเครน ซึ่งมีราคาลูกละราว 1 ล้านดอลลาร์
“ด้วยต้นทุนที่ต่ำเช่นนี้ โดรน Shahed สามารถถูกนำมาระดมกระหน่ำยิงเป้าหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นคลังน้ำมันหรือโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ เช่น พลังงานและน้ำประปา”
นอกจากนั้น การสกัดโดรน Shahed-136 ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
สื่อ National Public Radio อ้างคำพูดจากเจ้าหน้าที่ยูเครนและเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติและรายงานว่า รัสเซียใช้โดรนของอิหร่านยิงเข้าใส่พื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานพลเรือน โดยในวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา การโจมตีเข้าใส่กรุงเคียฟด้วยโดรนโดยรัสเซียนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 4 รายด้วย ขณะที่ สำนักข่าว CNN รายงานในวันเดียวกันว่า รัสเซียใช้โดรนของอิหร่านและของตนเองยิงถล่มโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนในเมืองดนิโปรเปตรอฟสก์ และเมืองซูมี ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คนและบาดเจ็บ 9 คน
หนังสือพิมพ์ The Guardian รายงานในวันพุธว่า ยูเครนต้องใช้เงินสำหรับการยิงโดรนของอิหร่านตก มากกว่ารัสเซียต้องใช้ในการส่งโดรนดังกล่าวออกมา
“ด้วยราคาของโดรน Shahed-136 ของอิหร่านที่เพียง 20,000-50,000 ยูโรต่อลำ นักวิเคราะห์ด้านการทหาร จาก NGO Molfar ประเมินว่า ต้นทุนรวมของรัสเซียในกรณีหากการโจมตียูเครนด้วยโดรนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาประสบความล้มเหลว อยู่ระหว่าง 11.66 ล้าน และ 17.9 ล้านดอลลาร์
“บทวิเคราะห์ที่อ้างอิงข้อมูลซึ่งสาธารณชนเข้าถึงได้ ชี้ว่า ต้นทุนประเมินสำหรับยูเครนอยู่ที่กว่า 28.14 ล้านดอลลาร์ โดยข้อมูลนั้นรวมความถึงโดรนที่ยิงออกมาระหว่างวันที่ 13 กันยายนและ 17 ตุลาคม”
ในการแถลงข่าวรายวันทางโทรทัศน์เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า รัสเซียพุ่งเป้าการยิงไปยังระบบพลังงานของยูเครน และยิงโจมตีพื้นที่อย่างน้อย 10 เขตปกครองในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ปธน.เซเลนสกี กล่าวว่า “เราควรระลึกความสัตย์จริงที่ว่า การที่รัสเซียร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าวจากอิหร่าน เป็นเหมือนการที่เครมลินยอมรับว่า ตนเองประสบภาวะล้มละลายทางการเมืองและทางการทหารแล้ว เป็นเวลาหลายทศวรรษ ที่รัสเซียทุ่มเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ไปกับเขตอุตสาหกรรมทหาร และในที่สุด ก็ต้องยอมก้มหัวให้กับกรุงเตหะราน เพียงเพื่อจะได้โดรนและขีปนาวุธธรรมดา ๆ มา”
ผู้นำยูเครนยังกล่าวด้วยว่า การโจมตีของรัสเซียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำลายสถานีพลังงานของยูเครนไป 30% และส่งผลให้เกิด “สถานการณ์ไฟดับเป็นวงกว้าง” ทั่วประเทศ
แต่ทางฝั่งอิหร่านนั้น กรุงเตหะรานปฏิเสธข่าวที่ว่า ตนขายอาวุธให้กับรัสเซียและยืนยันว่า ตนรักษาความเป็นกลางในภาวะขัดแย้งนี้เสมอ
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ รายงานในวันอังคารว่า “เจ้าหน้าที่อาวุโสของอิหร่าน 2 รายและเจ้าหน้าที่ด้านการทูต 2 รายของอิหร่าน” ยืนยันการขายอาวุธให้กับรัสเซีย โดยระบุว่า “มีการบรรลุข้อตกลงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม โดย โมฮัมหมัด โมคห์เบอร์ รองประธานาธิบดีคนที่ 1 พร้อมเจ้าหน้าที่อาวุโส 2 นายจากกองกำลังปฏิวัติ (Revolutionary Guards) ของอิหร่าน และเจ้าหน้าที่จากสภา Supreme National Security Council เดินทางเยือนมอสโก”
สหรัฐฯ ประกาศว่า จะทำการทุกอย่างให้การส่งอาวุธของอิหร่านให้กับรัสเซียนั้นยากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ให้ได้
รอยเตอร์รายงานว่า วีแดนท์ พาเทล รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในวันอังคารว่า “เราจะเดินหน้าใช้ขั้นตอนเชิงรุกและปฏิบัติได้จริงเพื่อให้การขายอาวุธนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งรวมถึงมาตรการลงโทษ การควบคุมการส่งออกต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง”
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ