โลกของเรามีความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดกับผลิตภัณฑ์พลาสติก เพราะแม้ว่าจะสะดวกสบายแต่ก็ทำให้เกิดปัญหา พลาสติกย่อยสลายตัวได้ช้ามาก และขยะพลาสติกยังก่อให้เกิดมลพิษต่อมหาสมุทรและเป็นอันตรายต่อสัตว์ในท้องทะเล
แต่สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ทนทาน มีราคาถูกและปลอดเชื้อแล้ว เรามีทางเลือกที่ดีน้อยมาก บริษัท Startup แห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขในเรื่องนี้ด้วยความช่วยเหลือจากล็อบสเตอร์
พลาสติกที่ว่านี้มีความพิเศษ เพราะแทนที่จะทำให้เกิดมลพิษในมหาสมุทร แต่กลับมาเป็นสิ่งที่ได้มาจากท้องทะเล เปลือกล็อบสเตอร์คือส่วนประกอบหลักของพลาสติกทางเลือกชนิดนี้
บริษัท Startup ในกรุงลอนดอน "The Shellworks" หาวิธีแทนที่วัสดุที่ย่อยสลายยากด้วยวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้เล็งเห็นศักยภาพของขยะจากอาหารทะเล
Amir Afshar จากบริษัท The Shellworks กล่าวว่า ขยะจากอาหารทะเลนั้นเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม แต่ภายในเปลือกของสัตว์ทะเลจำพวกกุ้งกั้งปูนั้นมีไบโอโพลีเมอร์ที่มีคุณค่าอย่างมากที่เรียกว่า “ไคติน” ดังนั้นจึงพยายามสกัดไคตินออกจากเปลือกของสัตว์ทะเลเหล่านี้เพื่อดูว่าจะสามารถนำมาเป็นทางเลือกของการใช้พลาสติกได้หรือไม่
สำหรับขั้นตอนการผลิตนั้น คือการนำเปลือกล็อบสเตอร์มาบดเพื่อสกัดเอาไคตินออกมา จากนั้นเติมน้ำส้มสายชูที่ใช้ในครัวเรือนเล็กน้อย จนทำให้เกิดของเหลวที่มีความหนาแน่นสูง ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นภาชนะใส่ของรูปแบบต่างๆ ที่ต้องการ เช่น ถุงพลาสติกได้
Amir Afshar กล่าวต่อไปอีกว่า พลาสติกที่ทำจากเปลือกล็อบสเตอร์นี้มีคุณสมบัติที่สามารถต้านเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งน่าสนใจมากสำหรับการนำไปใส่อาหาร และยังย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ดังนั้น ถ้ามีถุงนี้ที่บ้าน เมื่อใช้แล้วก็สามารถสับละเอียดแล้วโยนลงไปในกระถางต้นไม้ เพื่อช่วยให้ต้นไม้เติบโตได้
ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าพลาสติกที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจะมีจำนวนน้อยลง ทีมงานของบริษัท Shellworks กล่าวว่า ทางเลือกนี้สามารถนำไปใช้แบบกว้างขวางได้ อย่างน้อยก็ตามเมืองใหญ่ต่างๆ ที่เปลือกล็อบสเตอร์นั้นหาได้ง่าย เนื่องจากเป็นเศษอาหารจากร้านอาหารใหญ่ๆ
เจ้าหน้าที่จาก The Shellworks อีกคนหนึ่งกล่าวว่า ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนทิ้งเปลือกล็อบสเตอร์ราวปีละ 375 ตัน ซึ่งหมายถึงจะได้ไคติน 125,000 กิโลกรัม และสามารถทำถุงพลาสติกได้ประมาณปีละ 7,500,000 ถุง
อย่างไรก็ตาม เปลือกล็อบสเตอร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทดแทนพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันได้ แต่อาจสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวงจรผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น