พิธีเปิดป้ายถนน “Little Thailand Way” บริเวณหัวมุมถนนหมายเลข 77 กับ ถนนวู้ดไซต์ ย่านเอล์มเฮิร์สต์ ในเขตควีนส์ ที่ยืนยันอัตลักษณ์ความเป็นชุมชนไทย และเป็นถนนชื่อใหม่ล่าสุดที่สภานครนครนิวยอร์กมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติจัดตั้งให้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมพหุวัฒนธรรมของนครนิวยอร์กอย่างเป็นทางการ
ชาวชุมชนไทยไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับย่านนี้ วัดไทย ร้านอาหารไทย ร้านขายของชำ บ้านเรือน และธุรกิจต่างๆของคนไทย ตั้งอยู่อย่างหนาแน่นมาหลายทศวรรษแล้ว
รณชัย แก้วสุริยะ ชาวไทยในนครนิวยอร์ก บอกกับ วีโอเอ ไทย ที่ได้เห็นชื่อ ถนนลิตเติ้ลไทยแลนด์เวย์ ที่สะท้อนความเป็นชุมชนไทยอย่างเป็นทางการ
ผมว่ามันเป็นเหมือนแบบเป็นจุดศูนย์รวมของความเป็นไทยอยู่ที่นี่ เรามีทั้งวัดไทย มีร้านอาหารไทย มีร้านตัดผมไทย นวดแผนไทย และร้านขายของชำไทย...นึกถึงเอล์มเฮิร์สต์ เขาก็นึกถึงชุมชมไทยโสภณ โกศลานันท์ ผู้ประกอบการชาวไทย นครนิวยอร์ก
“ก็ดีใจที่ชุมชนคนไทยจะได้รับการเป็นที่รู้จัก อย่างเป็นทางการ ให้รู้ว่าตรงช่วงนี้ บริเวณนี้เป็นชุมชนที่มีคนไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก” รณชัย แก้วสุริยะ ชาวไทยในย่านเอล์มเฮิร์สต์ บอกกับ ‘วีโอเอ ไทย’
โสภณ โกศลานันท์ ผู้ประกอบการร้าน ‘ข้าวแกง’ บอกถึงความรู้สึกที่ได้เห็นย่านคนไทยได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ
“ก็รู้สึกดีแล้วก็ภูมิใจครับ เพราะว่านิวยอร์กเนี่ย เราไม่มีแบบนี้ ไม่ว่าจะเรียกไทยทาวน์ หรือ อะไรก็แล้วแต่ที่เรียก คือ เราไม่มีนานมากครับผมอยู่อเมริกามา 20 ปีแล้วนะกว่าจะมี เพิ่งมาเกิดขึ้นตอนนี้แหละ..
..ผมว่ามันเป็นเหมือนแบบเป็นจุดศูนย์รวมของความเป็นไทยอยู่ที่นี่ เพราะว่าแถวเอล์มเฮิร์สต์ เรามีทั้งวัดไทย มีร้านอาหารไทย มีร้านตัดผมไทย นวดแผนไทย และร้านขายของชำไทยมีหลายอย่างครับ มันเป็นศูนย์รวม เวลาเขามา นึกถึงเอล์มเฮิร์สต์ เขาก็นึกถึงชุมชมไทย..” โสภณ บอกกับ ‘วีโอเอ ไทย’
ผมคิดว่าเราน่าจะมีถนนไทยแลนด์สักถนนดีไหม เราออกมาทำกิจกรรม ให้คนนิวยอร์กเขาเห็นคุณค่าของเราไหม คุณค่าของความเป็นคนไทย และคุณค่าของการศิลปะไทย อาหารไทย ..ยุทธนา ลิ้มเลิศวาที
ด้านยุทธนา ลิ้มเลิศวาที ชาวไทยในนครนิวยอร์กถือเป็นแกนนำสำคัญที่มีส่วนผลักดันและประสานงานกับทางการท้องถิ่นนครนิวยอร์ก ผ่านการจัดกิจกรรมและเทศกาลไทยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนได้รับการสนับสนุนจากชุมชนใกล้เคียงและทางการท้องถิ่นอนุมัติจัดตั้งถนนสายนี้ให้เป็นที่รู้จักว่าเป็นถนนในชุมชนคนไทย
“ก็เกิดจากการทำกิจกรรมเรื่องสงกรานต์อีกนั่นแหละ พอดีว่าเราทำมาแล้วปีละ 2 ครั้ง พอดีปี ค.ศ.2018 - 2019 ผมก็คิดว่าเราน่าจะมีถนนไทยแลนด์สักถนนดีไหม? เราออกมาทำกิจกรรม ให้คนนิวยอร์กเขาเห็นคุณค่าของเราไหม คุณค่าของความเป็นคนไทย คุณค่าของอเมริกันไทยเป็นยังไงและคุณค่าของการศิลปะไทย อาหารไทย คือเวลาเราทำกิจกรรมบนถนน ผมมีความรู้สึกว่ามันได้ การตลาดมากกว่าครับ” ยุทธนา กล่าว
ขณะที่ แดนเนียล รอมม์ (Danial Dromm) แดนเนียล รอมม์ หรือ City Council ผู้มีส่วนผลักดันโครงการถนน Little Thailand Way บอกว่า แม้ในช่วงแรกจะพบอุปสรรค์เรื่องข้อกฎหมายของนครนิวยอร์กที่ไม่อนุญาตให้ตั้งชื่อถนนตามชื่อประเทศได้ แต่ในที่สุดก็ช่วยผลักดันกฎหมายและอนุมัติชื่อถนนตามชื่อประเทศไทยได้สำเร็จ และเป็นที่ยอมรับอย่างน่าภาคภูมิใจในนามชุมชนไทย
“นับจากนี้ต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต บริเวณนี้จะยังคงเป็น ลิตเติ้ลไทยแลนด์เวย์ อยู่ตลอดไป ตามที่ประกาศใช้เป็นกฎหมายของนครนิวยอร์ก และจะเป็นที่รับรู้ของทุกคนนับต่อจากนี้” แดนเนียล รอมม์ กล่าว
ด้านเชอร์การ์ กริชนัน (Sherkar Krishnan) สมาชิกสภานครนิวยอร์กเขต 25 บอกว่า ถนนสายนี้คือการยืนยันตัวตนของชุมชนไทยให้เป็นที่รับรู้และเป็นส่วนหนึ่งในเขตที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของนครนิวยอร์ก ณ จุดที่เป็นศูนย์กลาง และเป็นเสมือนจิตวิญญานของชาวชุมชนไทยในนครนิวยอร์กอย่างแท้จริง
การเริ่มต้นนับหนึ่งอย่างเป็นทางการของความเป็นชุมชนไทย กลายเป็นสัญญานในแง่บวกที่หลายคนอยากจะเห็นการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น
เป็นความฝันของผม ที่ว่าอยากให้มีศูนย์วัฒนธรรมให้เป็นกิจจะลักษณะ เพื่อสอนวัฒนธรรม อย่างที่เขาพูดกันว่า ‘ซอฟท์ พาวเวอร์’ ให้กับคนท้องถิ่น คนสหรัฐฯฟาบีโอ จินดา กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก
ธิติวุฒิ จันทรสมบัติ ชาวไทยนครนิวยอร์ก เชื่อว่า เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะได้เห็นการเติบโตของย่านธุรกิจของชาวไทย
“ผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะครับ สำหรับชุมชนของคนไทยที่จะมีการเติบโตมากขึ้น และในอนาคตผมคิดว่าบริเวณนี้หลังจากเป็นไทยทาวน์แล้วก็จะมีการเติบโตที่มีการขยายตัวด้วย ซึ่งผมก็หวังว่าอยากจะเห็นไทยทาวน์มันเยอะขึ้น ขยายใหญ่มากขึ้น”
ขณะที่ ฟาบีโอ จินดา กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก เชื่อว่ามีโอกาสที่จะต่อยอดความสำเร็จด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทย ใจกลางนครนิวยอร์กได้ในอนาคต
“ก็เป็นความฝันของผม ที่ว่าอยากให้มันมีศูนย์วัฒนธรรมให้เป็นกิจจะลักษณะ เพราะจริงๆเนี่ยนิวยอร์ก มีคุณครูหรือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยค่อนข้างเยอะ โดยปกติเขาก็ไปสอนตามบ้าน ซึ่งมันไม่มีที่ที่จะสามารถเป็นศูนย์รวมของการสอนวัฒนธรรม อย่างที่เขาพูดกันว่า ‘ซอฟท์ พาวเวอร์’ ให้กับคนท้องถิ่น หรือคนสหรัฐฯ หรือคนที่ที่มาจากต่างประเทศเพื่อที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมไทย” กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก กล่าวกับ วีโอเอ ไทย
ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า เฉพาะในเขต ปกครองควีนส์ มีชาวไทยอาศัยอยู่ราว 1หมื่น 7พันคน ซึ่งถือเป็นย่านที่มีชาวไทยอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ของนครนิวยอร์ก โดยถือเป็นย่านชุมชนไทยแห่งที่ 3 ที่ได้รับการอนุมัติการจัดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากทางการท้องถิ่นในอเมริกา ต่อจากย่านไทยทาวน์ ในนครลอส แอนเจลิส และ ศูนย์ไทยทาวน์ ที่นครชิคาโกรัฐอิลลินอยส์