งานรำลึกครบรอบเหตุการณ์สึนามิ 20 ปี ที่ประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี ใกล้กับหมู่บ้านน้ำเค็มในจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในประเทศ
ผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมารำลึกถึงผู้เป็นที่รักที่ล่วงลับหรือสูญหายไป โดยในวันครบรอบนี้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลตามความเชื่อของศาสนาพุทธ คริสต์และอิสลาม
ผู้คนหลายร้อยคนเดินทางมาเยี่ยมชมกำแพงสึนามิ อนุสรณ์สถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลออกไปเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต ที่มีชื่อจารึกอยู่บนกำแพงนี้
เมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 แผ่นดินไหวความแรง 9.1 ในทะเลใกล้กับจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดระลอกคลื่นยักษ์พัดขึ้นฝั่งอินโดนีเซีย ไทย ศรีลังกา อินเดีย และประเทศอื่น ๆ อีกเก้าประเทศ คร่าชีวิตราว 230,000 คน และประชาชนมากกว่า 1.7 ล้านคนไม่มีที่อยู่อาศัย
โดเฮอร์ธี หญิงจากสหราชอาณาจักร คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่สูญเสียคู่ชีวิตของเธอและพ่อแม่ของเขาไปในเช้าวันนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
เธอเล่าย้อนเหตุการณ์ว่า “เราอยู่ด้วยกันที่ชายหาด จากนั้นเราพยายามวิ่งหนีแต่ไม่เร็วพอ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก จากนั้นฉันรู้ตัวอีกทีก็อยู่บนต้นไม้และบาดเจ็บหลายที่ ในหัวฉันคิดไม่ออกว่าต้องไปหาใคร ฉันรู้สึกไม่ดีเลย จากนั้นก็มีคนพาฉันไปโรงพยาบาล
ทางด้านอุไร ศิริสุข แม่ที่สูญเสียลูกสาววัย 4 ขวบไปในวันนั้น กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าไม่อยากที่จะเหยียบแม้กระทั่งน้ำทะเล
“ความรู้สึกเราคิดว่าทะเลมันเอาลูกเราไปไง เราโกรธมันมาก เราไม่สามารถที่จะเอาตีนไปเหยียบแม้กระทั่งน้ำ น้ำทะเลตรงนี้จะไม่เหยียบ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ลงไปเลย มันคืออะไรที่ดึงหัวใจของเราไป”
ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากสึนามิครั้งนั้น 5,395 ราย แบ่งเป็นคนไทย 2,059 ราย เป็นต่างชาติ 2,436 ราย และสูญหายอีก 2,817 คน อ้างอิงตามศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เมื่อ 11 ตุลาคมปี 2548 โดยจังหวัดพังงามีผู้เสียชีวิตมากที่สุดที่ 4,225 ราย
การประเมินในช่วงนั้นยังเชื่อว่ามีความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประมาณ 30,000 ล้านบาท
มัลลิกา ‘น้อง’ เกษไธสง จากมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation for Education and Development) เคยเป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่ลงมาช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่รัฐเข้าถึงได้ยาก เช่นแรงงานข้ามชาติหรือชนกลุ่มน้อย
“ของเราจะอยู่ในโครงการของมูลนิธิกระจกเงา เราตั้ง ศูนย์อาสมัครสึนามิ หรือ Tsunami Volunteer Center จากนั้นเราก็มาช่วยเหลือสร้างบ้าน ของน้องอยู่ในโครงการหมู่บ้านทับตะวัน จากนั้นก็ไปทำงานเรื่องเด็กที่ได้รับผลกระทบทั้งเด็กพม่า เด็กมอแกน เด็กไทย ที่เป็นเหยื่อที่สูญเสียครอบครัว เราเลยไปทำเรื่องศิลปะบำบัดและดนตรี” มัลลิกากล่าว
การรำลึกถึงความสูญเสียมีขึ้นในหลายพื้นที่ตามเส้นทางของคลื่นยักษ์ ในอินโดนีเซีย มีการรำลึกที่จังหวัดอาเจะห์ โดยมีผู้มาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งในฐานะผู้รอดชีวิตหรือญาติของผู้ที่ตายหรือสูญหาย
จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก อินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 170,000 คน ถือว่ามากที่สุดในเหตุภัยพิบัติครั้งนี้
นูร์คาลิส วัย 52 ปี กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ตัวเขาสูญเสียภรรยา ลูก ๆ รวมถึงพ่อแม่ทั้งฝั่งตนเองและฝั่งภรรยา และยังไม่พบศพของคนเหล่านี้แม้แต่คนเดียว
นูร์คาลิสกล่าวขณะมาเยือนสุสานหมู่ว่า “แม้เวลาจะผ่านมานานมาก แต่ความรู้สึกเดิม ๆ ยังหลอกหลอนพวกเราอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะคนที่เสียครอบครัวไปในคราวนั้น”
ที่ศรีลังกาที่มีผู้เสียชีวิตราว 35,000 คนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีการร่วมกันสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยเป็นเวลาสองนาทีที่อนุสรณ์สถานสึนามิในเมืองกอลล์ เมืองท่องเที่ยวชายทะเลทางตอนใต้ที่อยู่ในเส้นทางของคลื่น
ที่อินเดีย ประชาชนในรัฐทมิฬนาฑูที่เป็นจุดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ออกมาจุดเทียนและสวดภาวนาให้กับผู้เสียชีวิตเมื่อสองทศวรรษก่อน
- ที่มา: วีโอเอ, รอยเตอร์
กระดานความเห็น