บรรดานักการศึกษา สมาชิกสภานิติบัญญัติ และนักเรียนในสหรัฐฯ กำลังผลักดันให้มีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ในระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างทางการศึกษา และต่อสู้กับภาพลักษณ์หรือทัศนคติแบบเหมารวม (stereotypes) ที่เป็นภัยต่อสังคมเอเชียนอเมริกันในประเทศ
สำนักข่าว Associated Press รายงานว่า รัฐอิลลินอยจะกลายเป็นรัฐแรกของอเมริกาที่จะกำหนดให้โรงเรียนของรัฐสอนวิชาเอเชียนอเมริกัน หากผู้ว่าการรัฐลงนามอนุมัติร่างกฎหมายที่สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐให้การรับรองแล้ว ในขณะที่สมาชิกสภาของรัฐคอนเนคติคัต รัฐนิวยอร์ก และรัฐวิสคอนซิน ก็ได้เสนอแผนลักษณะเดียวกันในปีนี้
เจนนิเฟอร์ กอง-เกอร์โชวิทส์ สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐอิลลินอย กล่าวว่าเธอให้การสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว หลังจากที่มีการใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจาและร่างกายต่อผู้ที่มีเชื้อสายเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมาก กอง-เกอร์โชวิทสเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เธอเติบโตมานั้น เธอรับรู้เรื่องการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเธอต้องประสบพบเจอน้อยมาก เพราะว่าโรงเรียนของสหรัฐฯ ไม่มีการสอนเรื่องนี้ และครอบครัวของเธอก็ไม่ได้พูดหรือเล่าเรื่องนี้กับคนในบ้านอย่างเปิดเผย
“ฉันคิดว่า วิธีการรับมือต่อการถูกเหยียดหรือเลือกปฏิบัติของพวกเขาคือการก้มหน้าทน เพื่อที่จะอยู่ในประเทศนี้ให้ได้ ซึ่งก็เหมือนกับครอบครัวเชื้อสายเอเชียอีกหลายครอบครัว ซึ่งนั่นหมายถึงการปล่อยให้เหตุการณ์นั้นผ่านไป ไม่มีการพูดถึงอีก และพลอยทำให้ไม่มีการสอนคนรุ่นหลังถึงปัญหาและอุปสรรคที่คนรุ่นก่อนต้องเจอ” เธอกล่าว
สมาชิกสภารัฐอิลลินอยยังกล่าวด้วยว่า เธอไม่เคยรู้เรื่องกฎหมายกีดกันชาวจีน หรือ Chinese Exclusion Act มาก่อน จนกระทั่งมาเรียนนิติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย Chinese Exclusion Act ที่ออกมาในปี ค.ศ.1882 เป็นกฎหมายที่ห้ามไม่ให้คนงานชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ และเป็นกฎหมายเดียวที่เจาะจงและกีดกันคนเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งเอาไว้อย่างชัดเจน
เธอจึงมองว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ และเรียนรู้ถึงรากเหง้าของปัญหาเป็นสิ่งสำคัญต่อการจัดการกับการใช้ความรุนแรง การเหยียดเชื้อชาติ และการเกลียดชังคนเชื้อสายเอเชีย หรือคนที่ถูกมองว่า “เป็นอื่น” ในปัจจุบัน ปัญหาจะแก้ไม่ได้ หากสังคมไม่เข้าใจหรือไม่ได้เรียนรู้มากพอ
เมื่อขยายออกมามองการเคลื่อนไหวในระดับประเทศ เกรซ เหมง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐนิวยอร์ก สังกัดพรรคเดโมแครต ได้เสนอร่างกฎหมายเข้าไปในรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่จะส่งเสริมให้มีการสอนประวัติศาสตร์เอเชียนอเมริกันในโรงเรียน และสนับสนุนให้มีข้อสอบเกี่ยวกับประวัติคนเชื้อสายเอเชียเข้าไปในระบบวัดผลประเมินผลในระดับรัฐ และระดับชาติด้วย
ด้านรองศาสตราจารย์ นิโคลัส ฮาร์ทเลพ แห่งวิทยาลัย Berea College ในรัฐเคนตักกี มองว่า ส่วนใหญ่แล้ว ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมักจะไม่ปรากฎอยู่ในหนังสือเรียน หรือถูกนำเสนอในด้านเดียวแบบเหมารวม หรือถูกมองว่าเป็น “ชนกลุ่มน้อยตัวอย่าง” (model minorities) ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้มีการออกกฎหมายบังคับให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเอเชียนอเมริกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเหล่านี้ เพราะหากกำหนดให้โรงเรียนสอน โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุน ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพของการเรียนการสอน ก็อาจจะเข้าลักษณะผักชีโรยหน้า ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้เอเชียนอเมริกันได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การต่อต้านการแสดงความเกลียดชังต่อผู้ที่มีเชื้อสายเอเชีย ยังทำให้วงการศึกษาหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาเนื้อหา และองค์ประกอบการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อการสอนประวัติศาสตร์เอเชียนอเมริกันในโรงเรียนด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา อาจารย์บางคนต้องเป็นผู้ทำหน้าที่เสาะหาเนื้อหาที่จะนำมาสอนเสียเอง ทำให้อดีตครูโรงเรียนรัฐสองคน ออกมาร่วมกันบริหารโครงการ YURI Education Project ที่คอยจัดหลักสูตร และอบรมพัฒนาบุคลากรเพื่อเอื้อต่อการสอนประวัติคนเชื้อสายเอเชีย
ด้านศาสตราจารย์ เจสัน โอลิเวอร์ ชาง แห่งมหาวิทยาลัยคอนเนคติคัต ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ผลักดันให้มีการเรียนประวัติเอเชียนอเมริกัน กล่าวว่า การเรียนการสอนเกี่ยวกับเชื้อชาติช่วยให้นักเรียนเข้าใจประวัติความเป็นมาของตัวเอง และมุมมองที่สังคมมีต่อพวกเขา และสอนให้พวกเขารู้จักเชื่อมโยงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เข้ากับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เช่น การเชื่อมโยงกฎหมาย Chinese Exclusion Act เข้ากับปัญหาคนเข้าเมืองในปัจจุบัน
นักเรียนโรงเรียนมัธยมปลาย ฟาร์มิงตัน ไฮสคูล (Farmington High School) ในรัฐคอนเนคติคัต เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ผลักดันให้มีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์เอเชียนอเมริกัน โดยในปีนี้ ผู้นำของสหภาพนักเรียนที่มีเชื้อสายเอเชียได้ประชุมกับผู้บริหารของโรงเรียนเพื่อให้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา
นักเรียนเชื้อสายเอเชียหลายคนกล่าวว่าความรุนแรงและการทำร้ายเอเชียนอเมริกันทำให้พวกเขาอยากเรียนรู้ถึงปัญหาและที่มามากขึ้น และขณะเดียวกันก็ต้องการทำความเข้าใจตัวตนของพวกเขาให้ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีในหลักสูตร
มิงดา สุ่น นักเรียนและสมาชิกคนหนึ่งของสหภาพ จำได้ว่าเธอถูกล้อเลียนด้วยถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติจากเพื่อนนักเรียนของเธอในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ตอนนั้น เธอยังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจว่าการกลั่นแกล้งล้อเลียนในแบบนั้น มีต้นกำเนิดมาจากการเหยียดเชื้อชาติ ที่โรงเรียนเองไม่ได้รับรู้หรือรับทราบปัญหา
เธอหวังว่าการต่อต้านความรุนแรงต่อคนเชื้อสายเอเชียในปีนี้ จะทำให้โรงเรียนหันมาตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษา ซึ่งนอกจากจะทำให้เยาวชนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ได้เรียนรู้รากเหง้าแล้ว ยังจะทำให้เกิดความรู้สึกภูมิใจในตัวตนของพวกเขาอีกด้วย