ปัญหาสังคมสูงอายุและการขาดแคลนแรงงานในหลายประเทศส่งสัญญาณความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และล่าสุด เยอรมนีเริ่มหันไปพึ่งเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อมาช่วยงานด้านบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุ โดยตั้งความหวังที่จะมีการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างกว้างขวางภายใน 7 ปีข้างหน้า
"Garmi" คือ ชื่อของหุ่นยนต์สีขาวที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์และดูไม่แตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไปมากนัก โดยตัวหุ่นยนต์จะยืนอยู่บนแท่นที่มีล้อและมีหน้าจอสีดำซึ่งมีวงกลมสีน้ำเงินสองวงคล้ายกับเป็นดวงตาติดอยู่
Guenter Steinebach แพทย์ชาวเยอรมันผู้เกษียณอายุวัย 78 ปี กล่าวว่า สำหรับเขาแล้ว หุ่นยนต์ตัวนี้คือความฝัน เพราะ Garmi ไม่เพียงแต่สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้เท่านั้น แต่ยังสามารถให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยได้อีกด้วย หรืออย่างน้อยก็เป็นแผนการที่จะพัฒนาประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ตัวนี้
Garmi เป็นผลิตภัณฑ์ของภาคส่วนใหม่ที่เรียกว่า geriatronics ซึ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น วิทยาการหุ่นยนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยี 3 มิติสำหรับคนชรา การศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และการพยาบาล
ในโครงการนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ราว 12 คนที่ร่วมสร้าง Garmi ด้วยความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการ เช่น นายแพทย์ Steinebach ที่ Munich Institute of Robotics and Machine Intelligence ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Technical University of Munich และเชี่ยวชาญด้าน geriatronics ที่ตั้งอยู่ที่ Garmisch-Partenkirchen สกีรีสอร์ทที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี
ทั้งนี้ เยอรมนีเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของยุโรป และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย
ด้วยจำนวนผู้ที่ต้องการการดูแลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการคาดการณ์ว่า จะมีตำแหน่งงานผู้ดูแลผู้สูงอายุประมาณ 670,000 ตำแหน่งในเยอรมนีที่จะว่างลงภายในปี 2050 นักวิจัยจึงเร่งสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานบางอย่างที่ปัจจุบันดำเนินการโดยพยาบาล ผู้ดูแล และแพทย์อยู่
Abdeldjallil Naceri วัย 43 ปี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของห้องปฏิบัติการทดลอง กล่าวว่า การเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีนี้น่าจะทำให้ผู้คนในอนาคตสามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้โดยการใช้เทคโนโลยีในแบบด่วนเบ็ดเสร็จ คล้าย ๆ กับบริการด้านการเงินผ่านตู้ ATM เพื่อให้แพทย์ประเมินผลการวินิจฉัยของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล ซึ่งจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่อยู่ห่างไกล
นอกจากนี้ เครื่องดังกล่าวน่าจะให้การบริการแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น ที่ตามบ้านหรือบ้านพักคนชรา โดยทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การเสิร์ฟอาหาร เปิดขวดน้ำ โทรขอความช่วยเหลือในกรณีที่มีการหกล้ม หรือช่วยผู้สูงอายุให้พูดคุยกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ผ่านกล้องวีดีโออีกด้วย
ปัจจุบัน ทีมงานยังคงทำการทดสอบความก้าวหน้าของโครงการนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีนายแพทย์ Steinebach เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และบุคลากรการแพทย์คนอื่น ๆ ให้ความร่วมมือด้วยการเดินทางไปยังห้องปฏิบัติการทดลองที่ Garmisch-Partenkirchen เป็นประจำเพื่อเสนอแนวคิดและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหุ่นยนต์ Garmi
และขณะที่หลายคนพยายามคาดเดาว่า หุ่นยนต์ Garmi จะพร้อมออกสู่ตลาดเมื่อใด Naceri หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของห้องปฏิบัติการทดลอง เชื่อว่า การเปิดตัวหุ่นนี้เป็นเรื่องที่เร่งด่วน และประเมินว่า น่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2030
อย่างไรก็ตาม ทีมงานของ Naceri ระบุว่า หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญนั้นไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี การแพทย์ หรือการเงิน แต่คือประเด็นว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยอมรับหุ่นยนต์หรือไม่ โดย Naceri กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ป่วยนั้นจะต้องเชื่อใจหุ่นยนต์ และใช้งานพวกมันเหมือนกับที่ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน
- ที่มา: เอเอฟพี