สัปดาห์นี้ตรงกับวาระครบรอบหนึ่งปีที่ มูน แจอิน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้
อดีตทนายด้านสิทธิมนุษยชนผู้นี้รับตำแหน่งผู้นำประเทศ ท่ามกลางการยั่วยุของเกาหลีเหนือที่ยกระดับการทดลองขีปนาวุธ
ตั้งแต่นั้นมา ประธานาธิบดี มูน แจอิน แสดงบทบาทที่ชัดเจนและต่อเนื่องทางการทูต เพื่อจูงใจให้เกาหลีเหนือพิจารณายุติโครงการนิวเคลียร์ ขณะที่เขาเผชิญสิ่งท้าทายต่างๆ จนกระทั่งสามารถทำให้เกิดพัฒนาการที่เอื้ออำนวยต่อสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ณ ขณะนี้
งานดังกล่าวของมูน แจอิน ดำเนินไปเคียงคู่กับท่าทีแข็งขันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่เชื่อในการกดดันเกาหลีเหนือด้วย “มาตรการลงโทษขั้นสูงสุด”
ในช่วงนั้น มูน แจอิน ยังเจอแรงกดดันจากจีนด้วย เพราะรัฐบาลปักกิ่งใช้มาตรการลงโทษอย่างไม่เป็นทางการต่อเกาหลีใต้ หลังจากที่รัฐบาลกรุงโซลติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐฯ
นายมูน แจอิน กล่าวในสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสรับตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วว่า ตนจะประสานงานกับจีน สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ เพื่อหาทางออกที่สันติให้กับวิกฤตการณ์ความมั่นคง
เขาเดินเกมส์แตกต่างจากรัฐบาลหัวก้าวหน้าของเกาหลีใต้โดยทั่วไป
กล่าวคือรัฐบาลของนายมูน ทำตามมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ และให้ความร่วมมือกับเกาหลีเหนือเฉพาะในเรื่องโครงการด้านมนุษยธรรม ซึ่งเปียงยางเคยปฏิเสธความพยายามช่วงแรกๆ ของนายมูน เช่น การไม่ยอมรับความช่วยเหลือสำหรับเด็กที่เป็นโรคขาดอาหารจำนวนมากในเกาหลีเหนือ
แต่ล่าสุด การลงแรงที่ต่อเนื่องของนายมูนเริ่มเห็นผล
เริ่มจากการเจรจาระดับสูงระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองเกาหลี และการที่เปียงยางส่งตัวแทนเข้าร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จนมาถึงการประชุมสุดยอดระหว่างมูน แจอิน และคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งจะตามมาด้วยการพบกันของ โดนัลด์ ทรัมป์ กับนายคิม ในวันที่ 12 มิถุนายน ที่ประเทศสิงคโปร์
แม้หลายฝ่ายเห็นว่าพัฒนาเชิงบวกนี้เกิดจากมาตรการกดดันของสหรัฐฯ แต่ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า ประธานาธิบดีมูน แจอิน มีบทบาทสำคัญไม่น้อย
นักวิเคราะห์ อาน ชานอิล แห่งสถาบัน World Institute of North Korea Studies กล่าวว่า หากว่าเกาหลีใต้ไม่ได้ใช้แนวทางของมูน แจอิน บรรยากาศแห่งการปรองดองก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างที่เห็น
ตัวอย่างที่ชัดเจนล่าสุด คือการที่เกาหลีเหนือส่งนักโทษชาวอเมริกันในคดีสอดแนมและล้มล้างรัฐบาลกลับสหรัฐฯ
แต่แน่นอนว่าหนทางแห่งสันติภาพยังคงเต็มด้วยภารกิจและงานที่ท้าทายอยู่ข้างหน้า
แพทริค โครนิน (Patrick Cronin) นักวิเคราะห์จาก Center for American Security กล่าวว่า การส่งตัวชายชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีสามคนกลับสหรัฐฯ เป็นการเปิดประตูทางการทูตที่ยังต้องดูต่อไปอีกนานว่าจะสามารถนำไปสู่ผลที่ยั่งยืน ซึ่งอาจทำให้เกิดการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างที่หวังไว้
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Brain Padden และ Cindy Saine)