"มังกรโกโมโด" เป็นสัตว์เลื้อยคลานโบราณที่มีขนาดลำตัวใหญ่โต ฟันเต็มปาก ดุร้าย และมีเเหล่งที่อยู่ที่แสนสกปรก
Barney Bishop นักชีวเคมีที่มหาวิทยาลัย George Mason ที่ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงวอชิงตัน กล่าวว่าเเหล่งที่อยู่ที่สกปรกทำให้มังกรโกโมโดพัฒนาระบบภูมิต้านทานในร่างกายที่เเข็งเเรงมาก
Bishop นักชีวเคมีอเมริกัน ศึกษาโมเลกุลชนิดต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยภูมิต้านทานร่างกาย ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือด่านเเรกในการป้องกันการติดเชื้อ เขาเกิดความสนใจศึกษาภูมิต้านทานของมังกรโกโมโด
"เป็นที่รู้กันดีว่ามังกรโกโมโดกินสัตว์ที่ตายเเล้วเป็นอาหาร อาศัยอยู่ในสภาพเเวดล้อมที่สกปรก มังกรโกโมโดมีเชื้อเเบคทีเรียมากถึง 57 สายพันธุ์ภายในปาก ซึ่งล้วนเเต่เป็นเชื้อเเบคทีเรียที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้
แต่มังกรโกโมโดกลับไม่เจ็บป่วยจากเชื้อเเบคทีเรียที่มีอยู่ในร่างกายเหล่านี้ ไม่ว่าจะอยู่ในปากหรือในบาดเเผลที่เกิดจากการต่อสู้กับมังกรโกโมโดตัวอื่น"
Bishop นักชีวเคมีอเมริกันกับทีมงานทำการสกัดเอาเพปไทด์ซึ่งเป็นโปรตีนออกจากเลือดของมังกรโกโมโด โปรตีนเหล่านี้มีคุณสมบัติต่อสู้กับเชื้อโรคและผลิตโดยระบบภูมิต้านทานของมังกรโกโมโด
นักวิจัยชี้ว่าเพปไทด์ที่ได้จากเลือดของมังกรโกโมโดเหล่านี้มีคุณสมบัติที่ดีมากในการต่อต้านเชื้อเเบคทีเรีย
ทีมนักวิจัยได้ผลิตสารเพปไทด์เทียมที่ลอกเลียนแบบจากเพปไทด์จากมังกรโกโมโดขึ้น เเละได้ทดสอบประสิทธิภาพเพปไทด์เทียมชนิดที่มีศักยภาพมากที่สุดเรียกว่า DRGN-1 (DRAGON-1) โดยนำไปทดสอบกับบาดเเผลของหนูทดลอง และเซลล์เพาะเชื้อผิวหนังคน
ทีมนักวิจัยพบว่าเพปไทด์เทียมสามารถทำลายชั้นนอกของเชื้อเเบคทีเรียได้และทำลายไบโอฟิล์มที่เป็นคราบเหนียวที่เกิดจากการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนของเชื้อเเบคทีเรียเพื่อต่อต้านยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้เพปไทด์เหล่านี้ยังช่วยเร่งการสมานเเผลด้วย
Bishop ชี้ว่าเพปไทด์จากมังกรโกโมโดเป็นเเหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญ และอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนายาบำบัดการติดเชื้อแบบใหม่ได้
"การทำงานสามขั้นตอนในการทำลายเชื้อเเบคทีเรียของเพปไทด์เทียม DRAGON-1 หากนำไปผลิตเป็นยาปฏิชีวนะอาจจะช่วยป้องกันเชื้อเเบคทีเรียไม่ให้ดื้อยาได้ และช่วยแก้ปัญหาเชื้อโรคดื้อยาที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุขในปัจจุบัน"
การวิจัยนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงาน Defense Threat Reduction Agency ในสหรัฐฯ และทางกองทัพสหรัฐฯ สนใจในงานวิจัยนี้ เนื่องจากมองว่าอาจเกี่ยวข้องกับอาวุธชีวภาพ
ตัวอย่างเลือดของมังกรโกโมโดที่ใช้ในการวิจัยนี้ได้มาจากมังกรโกโมโดตัวผู้ชื่อ Tujah ที่มีน้ำหนักตัวเกือบ 45 กิโลกรัมครึ่ง อาศัยอยู่ที่ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์ St. Augustine ใน Florida
Bishop หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า "การวิจัยนี้ไม่ได้สร้างความเจ็บปวดหรืออันตรายเเก่สัตว์ เพราะมีการนำตัวอย่างเลือดของมังกรโกโมโดมาใช้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อช่วยในการพัฒนาเพปไทด์เทียม เเละต่อจากนั้น เพปไทด์ที่ใช้ในการทดลองบำบัดในหนูล้วนเป็นเพปไทด์สังเคราะห์ทั้งหมด"
รายงานเกี่ยวกับผลการวิจัยคุณสมบัติของเพปไทด์จากมังกรโกโมโด ตีพิมพ์ในวารสาร Biofilms and Microbiomes ไปเมื่อเร็วๆ นี้
(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)