ลิ้งค์เชื่อมต่อ

น้องสาวผู้นำคิม ปัดตกข้อเสนอสหรัฐฯ เจรจากับเกาหลีเหนือ


แฟ้มภาพ - ภาพจากรัฐบาลเกาหลีเหนือ เผยให้เห็น คิม โย จอง น้องสาวของผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ขึ้นกล่าวในการประชุมระดับชาติว่าด้วยโคโรนาไวรัส ที่กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ 10 ส.ค. 2022
แฟ้มภาพ - ภาพจากรัฐบาลเกาหลีเหนือ เผยให้เห็น คิม โย จอง น้องสาวของผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ขึ้นกล่าวในการประชุมระดับชาติว่าด้วยโคโรนาไวรัส ที่กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ 10 ส.ค. 2022

น้องสาวผู้ทรงอิทธิพลของคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ให้กลับมาเจรจาทางการทูตและการประณามการปล่อยดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือ พร้อมให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าการปล่อยจรวดสอดแนมและการทดสอบขีปนาวุธต่อไปแม้จะถือว่าเป็นการละเมิดคำสั่งห้ามของสหประชาชาติก็ตาม

คิม โย จอง น้องสาวของผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ในการเจรจาทางการทูตกับเกาหลีเหนือ หลังจากทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ประณามการปล่อยดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือ แต่ได้ย้ำถึงข้อเสนอของสหรัฐฯ สำหรับการเจรจาโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ โดยกล่าวว่าเกาหลีเหนือ "สามารถเลือกช่วงเวลาและหัวข้อได้"

น้องสาวผู้นำคิม กล่าวในแถลงการณ์ ที่สื่อรัฐบาลกรุงเปียงยาง KCNA นำมาเผยแพร่ว่า “อธิปไตยของรัฐเอกราชไม่ควรเป็นวาระการเจรจา ดังนั้น(เกาหลีเหนือ)จะไม่มีวันเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ เพื่อจุดประสงค์นั้น” พร้อมกล่าวว่าเกาหลีเหนือมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาดาวเทียม และจะใช้สิทธิในอำนาจอธิปไตยโดยไม่ถูกจำกัดในอนาคต

นอกจากนี้ คิม โย จอง ยังได้กล่าวว่า การหารือของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันจันทร์ที่แล้วนั้น จัดขึ้นมาตาม “ข้อเรียกร้องเหมือนพวกอันธพาลของสหรัฐฯ และพวกลิ่วล้อ” และสหรัฐฯ ควรอธิบายมาก่อนว่าทำไมทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ จึงปรากฏที่ท่าเรือของเกาหลีใต้บ่อยครั้ง แทนที่จะมาตีตราการปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือว่า "ผิดกฎหมาย"

โดยน้องสาวผู้นำคิม กล่าวถึงกรณีที่เรือบรรทุกเครื่องบินและเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ประจำการชั่วคราวที่เกาหลีใต้ ภายใต้ข้อตกลงสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ในการเสริมสร้างการป้องกันตนเองต่อภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ

เมื่อปี 2018 คิม จอง อึน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประชุมสุดยอดร่วมกันว่าด้วยอนาคตของเกาหลีเหนือด้านอาวุธนิวเคลียร์ แต่การเจรจาทางการทูตครั้งที่ง 2 ของทั้งคู่กลับล้มเหลวในปี 2019 ทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือกลับมาเดินหน้าพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าผู้นำคิมมองว่าเป็นเครื่องต่อรองที่ดีกว่าในการเจรจาในอนาคตกับสหรัฐฯ

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG