ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เเทนการค้าสหรัฐฯสนับสนุน "การเเบ่งปันเทคโนโลยีวัคซีนโควิด" แก่ประเทศกำลังพัฒนา


FILE - Vials labelled 'COVID-19 Coronavirus Vaccine' and a syringe are seen in front of the Pfizer logo in this illustration taken Feb. 9, 2021.
FILE - Vials labelled 'COVID-19 Coronavirus Vaccine' and a syringe are seen in front of the Pfizer logo in this illustration taken Feb. 9, 2021.

ผู้เเทนการค้าสหรัฐฯระบุถึงจุดยืนของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนเรื่องสิทธิบัตรยาสำหรับวัคซีนต้านโควิด-19 ว่า ทางการอเมริกันสนับสนุนการผ่อนผันกฎเป็นการชั่วคราวผ่านการทำงานขององค์การการค้าโลกเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนานำความรู้และเทคโนโลยีด้านนี้จากประเทศเจ้าของสิทธิบัตรไปใช้ได้

คำประกาศครั้งนี้โดยเเคเธอรีน ไทผู้เเทนการค้าสหรัฐฯ เกิดขึ้นขณะที่องค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) กำลังพิจารณาข้อเสนอของประเทศที่ต้องการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 แต่ติดขัดด้านกฎหมายสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ความตกลง TRIPS (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) ของ WTO

หากมีการผ่อนผัน คาดว่าจะสามารถทำให้นานาประเทศผลิตวัคซีนต้านโคโรนาไวรัสได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามเเคเธอรีน ไท กล่าวว่าอาจใช้เวลาพอสมควรกว่าที่ประเทศต่างๆจะมี "ฉันทามติ" ในการยกเว้นการปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในกรณีนี้ภายใต้กรอบการทำงานของ WTO

การพิจารณาของ WTO ที่กำลังเกิดขึ้น สืบเนื่องจากที่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่เเล้ว อินเดียและเเอฟริกาใต้เสนอให้มีการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษเรื่องการขอใช้สิทธิบัตรยาสำหรับวัคซีนต้านโคโรนาไวรัส

‘ไบเดน’ หนุนผ่อนผันทรัพย์สินทางปัญญาด้านวัคซีนโควิด แต่ปัญหายังไม่จบ

แม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะสนับสนุนการผ่อนปรนเงื่อนไขด้านทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นการชั่วคราว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า บริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ของสหรัฐฯ จะเปิดเผยสูตรการผลิตวัคซีนโควิด ให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้โดยทันที

เพราะการเจรจาภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก หรือ WTO เพียงอย่างเดียว ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เว้นแต่ทางสหภาพยุโรป หรือ อียู และประเทศอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ยังคัดค้านการผ่อนปรนเงื่อนไขด้านทรัพย์สินทางปัญญาด้านวัคซีน จะยอมสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว เพื่อให้เกิดฉันทามติจากทุกประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก

หลังจากนั้นประเทศต่างๆ จะต้องปลดข้อกฏหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละประเทศที่ขัดขวางกระบวนการผลิตและจัดส่งวัคซีนโควิด ซึ่งกระบวนการต่างๆนี้อาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนหรืออีกหลายปีทีเดียว

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ที่มีหลายชนิดทั่วโลก ต่างมีความซับซ้อนของวัตถุดิบ ส่วนประกอบ เทคโนโลยีการผลิต ไปจนถึงระบบการขนส่งและบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกัน รวมทั้งกว่าจะได้วัคซีนแต่ละตัว จำเป็นต้องใช้ส่วนประกอบมากมาย ซึ่งนั่นหมายถึงอาจต้องใช้สิทธิบัตรนับร้อยเพื่อให้ได้วัคซีนขึ้นมาหนึ่งสูตร

ในมุมมองของที่ปรึกษาด้านกฏหมายและนโยบายขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders) หยวนฉง หู ให้ทรรศนะว่า หากสามารถผ่อนผันทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีวัคซีนได้เร็วเท่าไหร่ จะมีผลต่อการผลิตวัคซีนได้เร็วขึ้น ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาจะไม่ต้องรอสั่งซื้อจากประเทศร่ำรวยที่มีเทคโนโลยีการผลิตอีกต่อไป และแม้ว่าการผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวจะไม่เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ประเทศอื่นๆ ยังมีโอกาสต่อรองกับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง เพื่อขอรับบริจาคหรือสั่งซื้อวัคซีนได้ในราคาที่ถูกลงได

ขณะนี้บริษัทยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ อย่างไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) คัดค้านการผ่อนปรนกฎหมายสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ความตกลง TRIPS โดยระบุว่าการผ่อนปรนเงื่อนไขนี้ชั่วคราวอาจส่งผลเสียตามมา และทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตวัคซีน เพื่อรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ พร้อมเตือนว่าการผ่อนปรนกฏหมายดังกล่าว จะเปิดทางให้จีนและรัสเซีย เข้าถึงข้อมูลความลับทางการค้าและเป็นเครื่องมือให้มหาอำนาจเหล่านี้แผ่ขยายนโยบายการทูตวัคซีนมากขึ้นไปอีก

เช่นเดียวกับผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ บิล เกตส์ ที่กองทุน Bill and Melinda Gates Foundation เป็นผู้สนับสนุนโครงการพันธมิตรด้านวัคซีน Gavi ตัวขับเคลื่อนหลักของโครงการวัคซีนโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลก ที่ได้คัดค้านการผ่อนปรนเรื่องสิทธิบัตรจากจุดยืนของเขาที่สนับสนุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหนียวแน่นนั่นเอง

ฝ่ายที่คัดค้านการผ่อนปรนกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาด้านวัคซีนภายใต้ความตกลง TRIPS เชื่อว่า การผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าวจะไม่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น เพราะกว่าจะสามารถผลิตวัคซีนขึ้นมาได้ รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องจัดตั้งโรงงานผลิต ฝึกฝนพนักงาน และสรรหาวัตถุดิบเพื่อผลิตวัคซีน

กลุ่มที่คัดค้าน ชี้ว่า หนทางที่รวดเร็วกว่าและดีกว่า คือการทำผ่านการเป็นหุ้นส่วนการถ่ายโอนเทคโนโลยีวัคซีนและข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยา เช่นที่แอสตราเซเนกาทำร่วมกับ Serum Institute of India หรือกรณีของบริษัทเอกชนจีนซิโนแวค ไบโอเทค ที่ทำข้อตกลงกับบริษัท Bio Farma ของอินโดนีเซีย เพื่อผลิตวัคซีนโควิดกับประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น

XS
SM
MD
LG