เมื่อเดือนตุลาคมปีที่เเล้ว อินเดียและเเอฟริกาใต้เสนอให้มีการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษเรื่องการขอใช้สิทธิบัตรยาสำหรับวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อให้ผู้ต้องการวัคซีนแต่ติดขัดด้านกฎหมายสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาได้ประโยชน์จากการผ่อนผันดังกล่าว ซึ่งอยู่ภายใต้ความตกลง TRIPS (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) ขององค์การการค้าโลก
เเต่เท่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ ยังคงไม่รับปากว่าจะมีท่าทีเช่นใด ต่อข้อเสนอดังกล่าว ที่คาดว่าจะช่วยให้ประเทศจำนวนมากขึ้นผลิตวัคซีนในราคาถูกลงเพื่อรับมือกับการระบาดของโคโรนาไวรัส
ท่าทีที่ยังลังเลนี้ทำให้หลายประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ผิดหวังกับสหรัฐฯ ที่การประชุมในระดับปฏิบัติการในวันศุกร์ที่ผ่านมา และเรื่องดังกล่าวจะเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมใหญ่ในวันพุธนี้
เจ้าหน้าที่ของสำนักงานผู้เเทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR (United States Trade Representative) กล่าวว่า “กำลังทำงานอยู่กับหุ้นส่วนระดับนานาชาติ เพื่อพิจารณาขั้นตอนที่ปฏิบัติได้และมีประสิทธิภาพ ในการเพิ่มปริมาณการผลิต (วัคซีน) และการเเจกจ่ายตามเกณฑ์ที่ความเหมาะสม”
รัฐบาลของประธานาธิบดี ไบเดน ของสหรัฐฯ อยู่ภายใต้เเรงกดดันจากสมาชิกพรรคเดโมเเครตของเขาเองโดยสมาชิกพรรคหัวก้าวหน้า เช่น ส.ว. อะลิซาเบธ วอร์เรน และ ส.ว.เบอร์นี เเซนเดอร์ส เห็นว่าการผ่อนผันจะช่วยการต่อสู้กับโคโรนาไวรัสในระดับโลกได้อย่างมาก
ขณะเดียวกันฝ่ายรีพับลิกันและกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ยาของสหรัฐฯ มองว่า การปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาจากการถูกลอกเลียนเเบบ คือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ พวกเขามองด้วยว่าถ้ามีการคลายล็อคสิทธิบัตรในกรณีนี้ อาจจะเกิดปัญหาขาดเเคลนสารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีน และเป็นการเปิดเผยความลับทางธุรกิจต่อคู่เเข่งต่างชาติ
องค์การการค้าโลกมีสมาชิก 80 รายที่เห็นชอบกับการผ่อนผันข้อบังคับเรื่องสิทธิบัตรยาสำหรับวัคซีนโควิด-19 แต่เสียงคัดค้านจากสหภาพยุโรป และรัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ในเวลานั้น สกัดกั้นความคืบหน้าของการหารือ
ขณะนี้มีการขับเคลื่อนโครงการ People's Vaccine ที่ มีกลุ่มองค์กรด้านมนุษยธรรม อดีตผู้นำประเทศ 60 คน และเจ้าของรางวัลโนเบล 100 ราย เรียกร้องให้รัฐบาลปัจจุบันของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน พิจารณาถึงผลด้านลบต่อประชากรโลกอย่างจริงจัง จากการให้การปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องวัคซีนต้านโคโรนาไวรัส
แต่ในเวลาเดียวกันผู้บริหารบริษัทเวชภัณฑ์ยาเช่น โมเดอร์นา ไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา ได้พบกับ ผู้เเทนการค้าสหรัฐฯ เเคเธอรีน ไท เพื่อโน้มน้าวให้เธอต้านการขอผ่อนผันด้านสิทธิบัตรยา
บริษัทยากล่าวว่า การละเว้นให้การคุ้มครองเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จะไม่เป็นผลดีต่อการจัดการกับโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์
อย่างไรก็ตามองค์กร Doctors Without Borders เชื่อว่าการผ่อนผันเรื่องสิทธิบัตร จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อการรับมือ โควิด-19 เพราะบริษัทในหลายประเทศมีกำลังการผลิตเหลือและมีศักยภาพในการผลิต
ในอดีตที่เกิดการระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ นานาประเทศเห็นพ้องในคำประกาศโดฮา หรือ Doha Declaration ปีค.ศ. 2001 หรือ 20 ปีก่อน ที่ให้ความผ่อนผันต่อการคุ้มครองสิทธิบัตรยา ภายใต้กรอบความตกลงของ WTO
หลังจากนั้นประเทศต่างๆเช่น เเซมเบีย ซิมบับเว อินโดนีเซีย บราซิลและมาเลเซีย สามารถนำสูตรยาต้านเชื้อเอชไอวีไปผลิตเองโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยาได้