ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาติสมาชิกจี-7 เร่งอพยพผู้คนออกจากอัฟกานิสถาน หลังเลื่อนเส้นตายไม่สำเร็จ


US Air Force airmen guide evacuees aboard a transport aircraft at Hamid Karzai International Airport in Kabul, Afghanistan, Aug. 24, 2021. (US Air Force photo)
US Air Force airmen guide evacuees aboard a transport aircraft at Hamid Karzai International Airport in Kabul, Afghanistan, Aug. 24, 2021. (US Air Force photo)

ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ระบุว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากต้องเดินหน้าถอนกองกำลังออกจากอัฟกานิสถานภายในวันที่ 31 สิงหาคม แม้จะกังวลว่าจะไม่สามารถอพยพผู้คนของตนออกมาได้ทั้งหมดตามกำหนดเวลาดังกล่าวก็ตาม

ชาติพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) กำลังอพยพประชาชนของตนและชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับชาติดังกล่าวออกจากสนามบินในกรุงคาบูล ในขณะที่อังกฤษ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มจี-7 ในขณะนี้ เรียกประชุมออนไลน์ฉุกเฉินเมื่อวันอังคารเพื่อหารือถึงวิกฤตในอัฟกานิสถาน

ผู้นำชาติจี-7 ต่างขอให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เลื่อนเส้นตายถอนกองกำลังสหรัฐฯ ออกจากประเทศ ที่ขณะนี้ตั้งไว้ที่วันที่ 31 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะเดินหน้าตามกำหนดเวลาเดิม โดยเขาให้เหตุผลว่า ยิ่งการถอนกองกำลังเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากเท่าใด ก็ยิ่งดีและลดความเสี่ยงต่อกองกำลังที่ยังคงอยู่ในอัฟกานิสถานเท่านั้น

ปธน. ไบเดนยังระบุด้วยว่า กำหนดเส้นตายถอนกองกำลังสหรัฐฯ ภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มตาลิบันจะให้ความร่วมมือ เปิดทางไปยังสนามบินและไม่ขัดขวางปฏิบัติการของสหรัฐฯ หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เขาขอให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ วางแผนสำรองฉุกเฉินเพื่อปรับกำหนดเวลาดังกล่าวหากเกิดเหตุจำเป็น

นอกจากนี้ กลุ่มตาลิบันจะไม่ขยายเส้นตายให้หลังจากวันที่ 31 สิงหาคม ดังนั้น ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากดำเนินการตามกำหนดเวลานี้

Kabul Airport
Kabul Airport

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ระบุว่า นับจนถึงวันอังคาร กองทัพอังกฤษอพยพผู้คนได้แล้ว 9,000 คน และแม้ทางอังกฤษจะมั่นใจว่าจะอพยพผู้คนออกมาได้อีกหลายพันคน แต่เก็ยอมรับว่า กองทัพอังกฤษเผชิญความท้าทายของสถานการณ์ในสนามบินที่กรุงคาบูลที่เป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก

ผู้นำอังกฤษยังระบุด้วยว่า ผู้นำชาติจี-7 จะมีแนวทางในการรับมือการอพยพร่วมกันในอนาคต รวมถึงจะวางแผนในการประสานงานกับกลุ่มตาลิบันที่อาจขึ้นเป็นรัฐบาลปกครองอัฟกานิสถาน

ชาติสมาชิกจี-7 ยังตกลงเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและด้านการเงินแก่อัฟกานิสถานและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมื่อวันอังคาร นางเออร์ซูลา วอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป หรือ อียู ระบุว่า อียูจะกันงบไว้ 1,200 ล้านดอลลาร์แบบมีเงื่อนไขเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่อัฟกานิสถานในอีกเจ็ดปีต่อจากนี้

นางวอน เดอ เลเยน ย้ำว่า การช่วยเหลือดังกล่าวนี้จะเป็นไปอย่างมีเงื่อนไข เช่น อัฟกานิสถานจะต้องปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี และอียูจะยังไม่ให้งบดังกล่าวจนกว่าอัฟกานิสถานจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้จริง

ในขณะที่ชาติยุโรปมีความกังวลถึงผลกระทบในระยะยาวต่อการที่ชาติตะวันตกถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานนั้น ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ระบุว่า อียูจะไม่ปล่อยให้เกิดวิกฤตด้านผู้อพยพอีก และจะร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอิหร่าน ปากีสถาน และเอเชียกลาง เพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ

ประธานคณะมนตรียุโรปยังกล่าวด้วยว่า อียูจะมีส่วนร่วมในการมอบความคุ้มครองให้ผู้ที่เผชิญกับการกดขี่ข่มเหงและชาวอัฟกันที่อยู่ในภาวะเปราะบาง จะไม่เปิดทางให้ตลาดค้ามนุษย์ และจะควบคุมกระแสผู้อพยพและดูแลความปลอดภัยตามชายแดนยุโรป

การอพยพประชาชนของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยังคงเผชิญความท้าทายอย่างมาก ท่ามกลางความโกลาหลที่สนามบินในกรุงคาบูล อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การที่สหรัฐฯ ถอนทัพอย่างทันทีทันใดก็เป็นบททดสอบของชาติพันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคนี้เช่นกัน

ศาสตราจารย์แอนดริว เบล แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา ผู้มีประสบการณ์ทำงานกับกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน ระบุว่า แม้การถอนทัพอย่างเร่งด่วนนี้จะเพิ่มความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและขาติพันธมิตรในระยะสั้น ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เคยถดถอยลงในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้อาจไม่ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในระยะยาวแต่อย่างใด

(เนื้อหาบางส่วนจากสำนักข่าว The Associated Press)

XS
SM
MD
LG