นักวิเคราะห์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดเผยว่า ลาวกำลังจะได้รับเงินช่วยเหลือและข้อเสนอลงทุนจากต่างประเทศในปีนี้ ขณะที่นานาประเทศต้องการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในลาวมากขึ้น
ญี่ปุ่น ไทย และเวียดนามเสนอเงินช่วยเหลือก้อนใหม่หรือยืนยันเงินลงทุนก้อนเดิมที่เคยให้ลาว ในขณะที่โครงการทางรถไฟยาว 400 กิโลเมตร มูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์ที่จีนลงทุน ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนของจีนในลาวที่ใหญ่ที่สุด กำลังจะแล้วเสร็จในปีนี้
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ของญี่ปุ่น ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน ของลาว เพื่อเน้นย้ำแผนพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ญี่ปุ่นเสนอมอบงบ 1.8 ล้านดอลลาร์ให้ลาวเพื่อเปิดโรงเก็บวัคซีนโควิด-19 และจะสนับสนุนการพัฒนาสนามบินนานาชาติในลาว
ทางด้านสำนักข่าวสารประเทศลาวรายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย หารือกับผู้นำลาวผ่านทางโทรศัพท์ โดยนายกรัฐมนตรีลาวคนใหม่ขอบคุณไทยที่มอบทุนด้านการศึกษา เกษตรกรรม และด้านสุขภาพให้ลาว โดยไทยยังช่วยเหลือลาวในการรับมือกับโรคโควิด-19 ด้วย
ขณะเดียวกัน Nhan Dan เว็บไซต์ข่าวของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม รายงานว่า ทางการเวียดนามได้เริ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือช่วงปีค.ศ. 2021-2030 และข้อตกลงความร่วมมือ 5 ปี โดยผู้นำเวียดนามและลาวจะตัดสินใจต่อไปว่าข้อตกลงดังกล่าวจะครอบคลุมด้านใดบ้าง โดยเมื่อปีที่แล้ว เวียดนามมอบความช่วยเหลือด้านโรคโควิด-19 และทุนการศึกษา 1,000 ทุนให้ลาว
เว็บไซต์ aiddata.org โดยมหาวิทยาลัยวิลเลียม แอนด์ แมรี่ ของสหรัฐฯ ระบุว่า มีเม็ดเงินจากจีนเข้าลาวปีละ 11,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ เม็ดเงินจีนเข้าลาวน่าจะพุ่งสูงยิ่งขึ้น จากช่องทางการสนับสนุนทางการเงินและการลงทุนอื่นๆ
ญี่ปุ่นและไทยเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้ลาวเช่นกัน ในขณะที่เวียดนามก็เริ่มมีบทบาทมอบงบให้ลาวมากขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นระบุว่า เมื่อปีค.ศ. 2016 ญี่ปุ่นมอบงบ 63,800 ล้านดอลลาร์ให้ลาว ซึ่งมีทั้งเงินสนับสนุน เงินกู้ และเงินช่วยเหลือด้านเทคนิค
เงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากนานาประเทศรวมกันอาจมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 15 ของจีดีพีลาว และสำนักข่าวสารประเทศลาวระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจลาวเติบโตด้วยอัตราร้อยละ 5.8 ต่อปีเนื่องจาก “การสนับสนุนจากหุ้นส่วนด้านการพัฒนาและมิตรประเทศ”
ทั้งนี้ การสนับสนุนจากต่างชาติมีความสำคัญสำหรับลาว เพราะราวหนึ่งในสี่ของประชากร 7 ล้านคนของประเทศนี้มีฐานะยากจน
นักวิเคราะห์มองว่า ประเทศเอเชียส่วนใหญ่ต้องการลดอิทธิพลของจีน เพื่อไม่ให้จีนมีอำนาจเหนือแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านทั้งเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงจุดเชื่อมต่อคมนาคมทางบกต่างๆ ทั้งนี้ เขื่อนจีนได้ควบคุมกระแสน้ำในแม่น้ำโขงตอนบน และรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มเงินช่วยเหลือลาวและประเทศเพื่อนบ้านเมื่อปีที่แล้ว
รศ. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จีนมีบทบาทในลาวหลายด้านและมีอิทธิพลในลาวมากขึ้นเช่นกัน โดยลาวเป็นหนึ่งใน “ตัวเบี้ย” ของการแข่งขันของชาติมหาอำนาจในภูมิภาคนี้
ทางด้านเจฟฟรีย์ คิงสตัน อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทมเพิลในกรุงโตเกียว มองว่า ญี่ปุ่นต้องการเพิ่ม “ความเชื่อมโยง” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแผ่นดินใหญ่ และกังวลถึงการที่จีนควบคุมกระแสน้ำในแม่น้ำโขง ญี่ปุ่นอาจส่งสัญญาณแข่งขันในด้านที่ยังดูเป็นรองจากจีน
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นพึ่งพาไทยเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ ในขณะที่มีกิจกรรมการผลิตของญี่ปุ่นในเวียดนามมากขึ้นเช่นกัน ญี่ปุ่นเริ่มลงทุนในประเทศเหล่านี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยการขนส่งทางบกจะช่วยลดค่าขนส่งไปยังเมืองท่าที่อยู่ห่างไกลได้
อาจารย์ฐิตินันท์ระบุว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ กำลังสกัดกั้นอำนาจของจีนในภูมิภาค โดยหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ ซึ่งเป็นแผนช่วยเหลือของสหรัฐฯ ที่เริ่มเมื่อเดือนกันยายน จะช่วยคานอำนาจของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงในลาวด้วย
เขายังระบุด้วยว่า ไทยมักมอบเงินทุนให้เขื่อนไฟฟ้าลาวและมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับลาวอย่างแน่นแฟ้น ในขณะที่เวียดนามก็ขัดแย้งกับจีนจากกรณีทะเลจีนใต้ และความขัดแย้งพื้นที่ตามชายแดน รวมถึงจากสงครามในช่วงทศวรรษ 1970
จีนไม่เปิดเผยว่ามอบเงินช่วยเหลือและเงินลงทุนให้ลาวไปทั้งหมดเท่าใด แต่นักวิเคราะห์มองว่า ลาวต้องพึ่งพาจีนมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว ลาวเป็นหนี้โครงการทางรถไฟจีนอยู่ 250 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ลาวมีมูลค่าจีดีพีต่ำกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์ และเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19