ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทาสแมวพร้อมโหลด! ญี่ปุ่นใช้เอไอวินิจฉัยโรคผ่าน “หน้าเหมียว”


อาจารย์มหาวิทยาลัยนิฮอน คาซูยะ เอดะมูระ วัย 49 ปี ใช้แอปฯ 'CatsMe!' ที่ใช้เอไอมาช่วยวินิจฉัยอาการป่วยของแมว 11 มิ.ย. 2024 (REUTERS/Issei Kato)
อาจารย์มหาวิทยาลัยนิฮอน คาซูยะ เอดะมูระ วัย 49 ปี ใช้แอปฯ 'CatsMe!' ที่ใช้เอไอมาช่วยวินิจฉัยอาการป่วยของแมว 11 มิ.ย. 2024 (REUTERS/Issei Kato)

ญี่ปุ่นนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยสังเกตอาการเจ็บป่วยของแมว ซึ่งถือเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปในการวินิจฉัยโรคผ่านใบหน้าของสัตว์เลี้ยงแสนรักเหล่านี้

มายูมิ คิตากาตะ วัย 57 ปี อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ใจกลางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เธอใช้ชีวิตอยู่กับแมวคู่ใจที่ชื่อว่า “ชี่” คิตากาตะเลี้ยงแมวตัวนี้มาตั้งแต่ที่เธออายุราว 25 ปี ซึ่งปัจจุบันชี่อายุเกือบ 14 ปีแล้ว

เมื่อหกปีก่อน เธอเพิ่งสูญเสียแมวอีกตัวที่เธอรักมาก สาเหตุจากโรคมะเร็ง คิตากาตะจึงต้องการใช้เวลาร่วมกับชี่ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงได้กลายมาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

“แคทส์มี!” (CatsMe!) คือแอปพลิเคชัน ที่ใช้ระบบ AI เพื่อตรวจจับใบหน้าของแมว และแจ้งเตือนเมื่อพวกมันแสดงสีหน้าเจ็บปวด ทำให้ผู้ดูแลสามารถพาแมวไปพบสัตวแพทย์ได้ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งคิตากาตะใช้งานแอปฯ นี้บนสมาร์ทโฟนในเดือนมีนาคม เป็นกลุ่มแรก ๆ

มายูมิ คิตาคาตะ วัย 57 ปี ใช้แอปฯ 'CatsMe!' ที่ใช้เอไอมาช่วยวินิจฉัยอาการป่วยของแมว 17 พ.ค. 2024 (REUTERS/Issei Kato)
มายูมิ คิตาคาตะ วัย 57 ปี ใช้แอปฯ 'CatsMe!' ที่ใช้เอไอมาช่วยวินิจฉัยอาการป่วยของแมว 17 พ.ค. 2024 (REUTERS/Issei Kato)

เจ้าของเผยว่า แมวอายุ 14 ปี อยู่ในช่วงวัยที่โรคภัยต่าง ๆ รุมเร้ามากขึ้น เธอบอกว่าการพาแมว ไปพบสัตวแพทย์ ในเหตุและเวลาอันสมควร ไม่ได้ไปพร่ำเพรื่อ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น ทั้งต่อสัตว์เลี้ยงและตัวเธอเอง

ในสังคมผู้สูงอายุประเทศญี่ปุ่น พบว่าการเลี้ยงสัตว์เป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไป เหล่าสัตว์เลี้ยงกลายเป็น “เพื่อนคนสำคัญ” อย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ สมาคมอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งญี่ปุ่นประเมินว่า ในปีที่แล้ว ญี่ปุ่นมีสัตว์เลี้ยงทั้งแมวและสุนัขเกือบ 16 ล้านตัว มากกว่าจำนวนของเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปีที่อยู่ในประเทศ

ผู้อยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชัน CatsMe! คือบริษัท เทคฯ สตาร์ทอัพ แคร์โลจี (Carelogy) และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิฮอน (Nihon University)

นักพัฒนาสอนให้ระบบ AI เรียนรู้รูปภาพของแมวจำนวนมากกว่า 6,000 รูป และชี้ว่าแอพฯ แสดงผลลัพธ์ที่แม่นยำสูงกว่า 95% และคาดว่าจะแม่นยำขึ้น จากการที่ระบบ AI ได้ฝึกฝนเรียนรู้ใบหน้าของแมวเพิ่มขึ้นตามลำดับ นับตั้งแต่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปฯ ดังกล่าว มากกว่า 230,000 ราย

อาจารย์มหาวิทยาลัยนิฮอน คาซูยะ เอดะมูระ วัย 49 ปี ใช้แอปฯ 'CatsMe!' ที่ใช้เอไอมาช่วยวินิจฉัยอาการป่วยของแมว 11 มิ.ย. 2024 (REUTERS/Issei Kato)
อาจารย์มหาวิทยาลัยนิฮอน คาซูยะ เอดะมูระ วัย 49 ปี ใช้แอปฯ 'CatsMe!' ที่ใช้เอไอมาช่วยวินิจฉัยอาการป่วยของแมว 11 มิ.ย. 2024 (REUTERS/Issei Kato)

คาซูยะ เอดามูระ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนิฮอน กล่าวว่าตัวเขาเป็นสัตวแพทย์ สามารถบอกได้ในระดับหนึ่งว่าสัตว์เจ็บปวดหรือไม่ แต่สำหรับคนทั่วไปถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก

เอดามูระ เล่าว่า “ตามสถิติของเรา มากกว่า 70% ของแมวสูงอายุ จะเป็นโรคข้ออักเสบหรือมีอาการปวด แต่มีเพียงแค่ 2% เท่านั้น ที่ถูกพาไปส่งโรงพยาบาล ดังนั้นแทนที่จะรอการวินิจฉัย เราสามารถใช้แอปฯ เพื่อให้เจ้าของ ตระหนักว่าแมวของตนเอง อยู่ในภาวะปกติหรือไม่”

จากหัวใจของคนรักสัตว์เลี้ยง คิตากาตะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแมวที่จากไปด้วยโรคมะเร็ง บอกว่าถ้าเธอสังเกตเห็น บางทีอาจจะรักษาได้เร็วกว่านี้ ในตอนนั้นแม้แต่สัตวแพทย์เองก็ยังไม่รู้ เธอกล่าวทั้งน้ำตาว่า “ฉันอาจจะสามารถช่วยน้องแมวเอาไว้ได้”

ทุกวันนี้ “ชี่” แมวคู่หูใช้ชีวิตอย่างอิสระในอพาร์ตเมนต์ ซึ่งมันมักจะแอบมางีบบริเวณหน้าต่างใกล้กับระเบียง ในด้านสุขภาพ คิตากาตะจะหมั่นตรวจสอบการขับถ่ายของแมวเป็นประจำ และเพื่อความมั่นใจ เธอได้ใช้แอปฯ ช่วยอ่านความรู้สึกจากใบหน้าของเพื่อนอันเป็นที่รัก ในทุก ๆ วัน

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG