ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำไมวันฮาโลวีนถึงต้องมีตะเกียงฟักทอง “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น”?


A barn owl stands on a jack-o-lantern carved from a pumpkin and used to symbolise Halloween or All Saints' Eve at the Zoom Torino zoo and amusement park in Cumiana, near Turin, northern Italy.
A barn owl stands on a jack-o-lantern carved from a pumpkin and used to symbolise Halloween or All Saints' Eve at the Zoom Torino zoo and amusement park in Cumiana, near Turin, northern Italy.

สัญลักษณ์ที่มาพร้อมกับวันฮาโลวีนคือตะเกียงฟักทอง หรือ “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น”(jack-o'-lantern) โดยชาวอเมริกันนิยมหาซื้อฟักทองทั้งจากร้านค้าหรือจากสวนฟักทองโดยตรง แล้วนำมาแกะสลักให้มีใบหน้า ทำเป็นตะเกียงตกแต่งบ้านเพิ่มบรรยากาศชวนขนหัวลุกในคืนวันฮาโลวีน ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี

การทำตะเกียงฟักทองสยองขวัญนี้ นอกจากจะต้องมีมีดคมๆ อย่างน้อยหนึ่งเล่มแล้ว ยังต้องทุ่มเวลาเพื่อคว้านเนื้อฟักทองและแกะสลักบนเปลือกฟักทอง การทำ “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” จึงถือเป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ และผู้ใหญ่ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี

ขั้นแรกของการทำตะเกียงฟักทองคือตัดขั้วฟักทองไปเก็บไว้ก่อน จากนั้นล้วงมือลงไปในผลฟักทอง คว้านเนื้อฟักทองเปียกๆ ออกมาจนหมด จึงค่อยวาดรูปหน้าผีหรือลวดลายตามต้องการบนเปลือกฟักทอง ก่อนใช้มีดแกะสลักตามลวดลายที่วาด สุดท้ายจึงค่อยใส่เทียนลงไปในผลฟักทอง แล้วนำขั้วฟักทองที่ตัดออกไปตอนต้นมาปิดบนผลฟักทอง ก็จะได้ “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” สำหรับประดับบ้านในวันฮาโลวีน

สำหรับที่มาของชื่อ “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” นั้น พจนานุกรมภาษาอังกฤษออนไลน์เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ อธิบายว่า ชาวอังกฤษเริ่มใช้คำนี้ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 17 โดยมีความหมายว่า “ชายผู้มีตะเกียง” หรือคนเฝ้ายามกะกลางคืน โดยในยุคนั้นชาวอังกฤษมักเรียกคนที่ไม่รู้จักว่า “แจ็ค” ชายปริศนาที่ถือตะเกียงจึงกลายเป็น “แจ็คผู้มีตะเกียง” (Jack with the lantern) หรือ “แจ็คแห่งตะเกียง (Jack of the lantern)

USA, Maryland, Halloween celebration
USA, Maryland, Halloween celebration

แล้ว “แจ็คแห่งตะเกียง” มาเกี่ยวข้องกับวันฮาโลวีนได้อย่างไร? เรื่องนี้ ทางเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์และสารานุกรมบริแทนนิกาอธิบายว่า คำว่า “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” มีที่มาจากเรื่องเล่าเก่าแก่ของชาวไอริชเกี่ยวกับชายผู้หนึ่งชื่อ “สติงกี แจ็ค” (Stingy Jack) หรือ “แจ็คผู้ขี้เหนียว”

ตามเรื่องเล่านี้ สติงกี แจ็ค หลอกเอาเงินจากปีศาจ พอเขาเสียชีวิตไป พระเจ้าไม่ให้เขาขึ้นสวรรค์ ส่วนปีศาจที่ถูกแจ็คหลอกยังโกรธเขาและไม่ยอมให้เขาลงนรกเช่นกัน แจ็คจึงถูกลงโทษให้กลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนบนโลกตลอดกาล

ชาวไอริชจึงหาวิธีป้องกันตัวเองจากการถูกวิญญาณของแจ็คหลอก ด้วยการแกะสลักหัวผักกาดเป็นหน้าผีน่ากลัวเพื่อไล่แจ็ค

ต่อมา เมื่อชาวไอริชอพยพมายังสหรัฐฯ พวกเขานำประเพณีแกะสลักหน้าผีบนพืชผักมาด้วย โดยแกะสลักบนฟักทองแทน เนื่องจากเป็นผักที่พบได้ทั่วไปมากกว่าในสหรัฐฯ

สำหรับเทศกาลฮาโลวีนนั้น เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการสิ้นสุดฤดูร้อนมาแต่โบราณของชาวเคลต์ในยุโรป โดยชาวเคลต์เชื่อว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว วิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีนั้นจะกลับมาเยี่ยมบ้าน

สารานุกรมบริแทนนิกาอธิบายว่า ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 8 คริสตจักรโรมันคาทอลิกได้ประกาศให้วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saint’s Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน ทำให้วันก่อนหน้าวันศักดิ์สิทธิ์ หรือ All Hallows’ Eve ที่ต่อมากร่อนเสียงเป็นคำว่า ฮาโลวีน (Halloween) ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมนั่นเอง

การเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนในปัจจุบัน ยังคงมีการปฏิบัติตามประเพณีเฉลิมฉลองของชาวเคลต์อยู่ เช่น การแกะสลัก “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” ไปจนถึงการแต่งตัวเพื่อพรางตัวเองจากวิญญาณ หรือแต่งกายเป็นผีเสียเองเพื่อซ่อนตัวจากผีจริงๆ นั่นเอง

Halloween
Halloween




XS
SM
MD
LG