กลุ่มชาวอเมริกันที่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกคุมขังในอิหร่านเป็นเวลาหลายปี เดินทางถึงกรุงวอชิงตันในวันอังคาร ภายใต้ข้อตกลงระหว่างทางการสหรัฐฯ กับอิหร่าน ซึ่งรวมถึงการแลกตัวนักโทษของสองประเทศ
เซียมัก นามาซี, เอมัด ชาร์กี, โมรัด ทาห์บัซ และชาวอเมริกันอีกสองคนที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ได้รับการต้อนรับจากญาติพี่น้องที่สนามบินชานกรุงวอชิงตันในช่วงรุ่งสางวันอังคาร หลังจากเดินทางออกจากสนามบินที่กรุงโดฮา กาตาร์ เมื่อวันจันทร์
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อชาวอเมริกันที่ได้รับอิสระและกลับมาเจอหน้าญาติพี่น้องอีกครั้ง พร้อมขอบคุณรัฐบาลกาตาร์ เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ช่วยดำเนินการให้เรื่องนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
ไบเดน ยังเตือนพลเมืองอเมริกันอย่าเดินทางไปอิหร่านในช่วงนี้ โดยระบุถึงคำเตือนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าอาจเกิดการลักพาตัวหรือถูกจับกุมโดยไร้ข้อหาได้
ขณะที่สื่อของทางการอิหร่านรายงานว่า ชาวอิหร่านสองคนจากห้าคนที่ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระจากทางการสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงแลกตัวนักโทษนี้ เดินทางกลับถึงกรุงเตหะรานแล้วเช่นกัน ส่วนอีกสองคนจะยังอยู่ในอเมริกาต่อไป และอีกหนึ่งคนเดินทางไปยังประเทศอื่น
ชาวอิหร่านทั้งห้าคนถูกตั้งข้อหาหรือถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาญาที่ไม่รุนแรงในสหรัฐฯ โดยคนที่ไม่มีสถานะอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายจะถูกส่งตัวกลับอิหร่าน
ประธานาธิบดีอิหร่าน เอบราฮิม ราอิซี กล่าวเมื่อวันจันทร์ขณะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ว่า การแลกตัวนักโทษครั้งนี้ถือเป็น "การก้าวสู่เส้นทางของการดำเนินงานทางมนุษธรรมระหว่างอิหร่านกับอเมริกา" และว่าเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างสองประเทศได้
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ อนุญาตให้สามารถถ่ายโอนสินทรัพย์ในกองทุนของอิหร่านมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ที่ถูกทางการสหรัฐฯ อายัดไว้ในเกาหลีใต้ ไปยังบัญชีในกาตาร์ได้ โดยเงินดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้ในด้านมนุษยธรรมเท่านั้น เช่น ซื้ออาหาร ยารักษาโรคและสินค้าการเกษตรต่าง ๆ
เจ้าหน้าที่อเมริกันยืนยันว่า ระบบดังกล่าวจัดทำขึ้นอย่างปลอดภัยและมั่นใจว่ามีความเสี่ยงต่ำที่เงินเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ในจุดประสงค์อื่น และบัญชีจะถูกล็อกทันทีหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น
ทางด้านอดีตประธานาธิบดีโดนลัด์ ทรัมป์ และสมาชิกพรรครีพับลิกันบางคน วิจารณ์ปธน.ไบเดน ว่าใช้เงิน 6,000 ล้านดอลลาร์ดังกล่าวเป็น "ค่าไถ่" ตัวประกันชาวอเมริกันห้าคนนั้น และอิหร่านจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ทรัมป์ ระบุทางสื่อสังคมออนไลน์ ทรูธ โซเชียล (Truth Social) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ข้อตกลงนี้ทำให้เกิด "มาตรฐานที่เลวร้าย"
ขณะที่ สว.จอห์น ธูน ระบุว่า "สหรัฐฯ ควรใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการนำชาวอเมริกันที่ถูกคุมขังกลับบ้านให้ได้ แต่ตอนนี้อิหร่านกำลังนั่งนับเงินค่าไถ่เหล่านั้นซึ่งช่วยให้ผู้นำอิหร่านสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และสนับสนุนการก่อการร้ายได้มากยิ่งขึ้น และราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการปล่อยตัวประกันชาวอเมริกันในอนาคตก็จะยิ่งสูงขึ้น"
อย่างไรก็ตาม โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ยืนยันว่า สหรัฐฯ มิได้ให้เงินใด ๆ แก่อิหร่าน "นั่นไม่ใช่เงินที่จ่ายออกไปในรูปแบบใดเลย ไม่ใช่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ใช่เงินภาษีของประชาชน แต่เป็นเงินของอิหร่านเองที่รัฐบาล (ทรัมป์) ยินยอมให้อิหร่านหามาได้" จากการขายน้ำมันให้ประเทศอื่น
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี และรอยเตอร์
กระดานความเห็น