ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนประสานเสียงอิหร่าน ร้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเตหะราน


China Iran
China Iran

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี ร่วมกันเรียกร้องในวันพฤหัสบดีให้มีการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลกรุงเตหะรานเพื่อเปิดทางให้ทุกฝ่ายกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาประเด็นโครงการนิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

หลังการเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วัน ผู้นำอิหร่านและผู้นำจีนได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วม ซึ่งมีการระบุว่า ปธน.สีได้ตอบรับคำเชิญของปธน.ไรซี ให้มาเยือนกรุงเตหะราน และพร้อมให้คำมั่นว่า จะเดินทางไปเมื่อมีโอกาส โดยครั้งล่าสุดที่ผู้นำกรุงปักกิ่งเยือนอิหร่านนั้นคือในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทัวร์ตะวันออกกลาง

แถลงการณ์ร่วมผู้นำจีน-อิหร่านยังเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ที่อิหร่านตกลงร่วมกับหลายประเทศ ซึ่งรวมถึง สหรัฐฯ เพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์แลกกับการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ

ในปี ค.ศ. 2018 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงข้างต้นและสั่งให้มีการดำเนินมาตรการลงโทษต่าง ๆ ต่ออิหร่านอีกครั้ง

ต่อมาในปี ค.ศ. 2021 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่า สหรัฐฯ จะกลับคืนสู่การข้อตกลงนี้ ถ้าอิหร่านยอมถอยหลังกลับไปปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลง แต่การเจรจาในเรื่องนี้ก็สะดุดลงไปอีกครั้ง

ทั้งนี้ ปธน.สีและปธน.ไรซี กล่าวว่า “มาตรการลงโทษทั้งหลายควรจะถูกยกเลิกให้หมด ในแบบที่มีการตรวจสอบได้ เพื่อส่งเสริมให้มีการปฏิบัติ(ตามเงื่อนไขข้อตกลง)อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ” และว่า จีนและอิหร่านขอย้ำว่า การยกเลิกมาตรการลงโทษและการทำให้แน่ใจว่า อิหร่านจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอนนั้นเป็นองค์ประกอบอันสำคัญของข้อตกลงนิวเคลียร์

นอกจากนั้น สองผู้นำยังระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า “จีนขอคัดค้านอย่างแข็งขันต่อการแทรกแซงจากภายนอกแก่กิจการภายในของอิหร่านและการบ่อนทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพของอิหร่าน”

รายงานข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ข้อความในแถลงการณ์ครั้งนี้แตกต่างจากอารมณ์ขุ่นเคืองที่อิหร่านแสดงออกมาเมื่อครั้งที่จีนและกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียออกแถลงการณ์ร่วมในช่วงการเยือนซาอุดิอาระเบียของปธน.สี เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว ซึ่งเรียกร้องให้อิหร่านให้ความร่วมมือกับสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA) และให้ร่วมหาทางออกอันสันติให้กับประเด็นเกาะ 3 เกาะที่อิหร่านปกครองอยู่แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อ้างกรรมสิทธิ์ไว้

โดยในครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเรียกตัวเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเตหะรานมาเพื่อพบและแสดง “ความไม่พอใจอย่างรุนแรง” ต่อเนื้อหาของแถลงการณ์ฉบับนั้นด้วย

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG