ทางการอิหร่านเปิดเผยว่า มีนักโทษเสียชีวิตแล้ว 8 คนจากเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เรือนจำเอวิน ในกรุงเตหะราน ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมืองและผู้รณรงค์ต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน
เหตุไฟไหม้ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในวันเสาร์ระหว่างที่กำลังมีการเดินขบวนประท้วงซึ่งเข้าสู่สัปดาห์ที่ห้า สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของสตรีวัย 22 ปี มาห์ซา อะมินี ระหว่างที่ถูกตำรวจศีลธรรมอิหร่านจับกุมตัวในข้อหาสวมผ้าคลุมผมไม่เรียบร้อย
ทางการอิหร่านระบุว่า เจ้าหน้าที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการควบคุมเปลวเพลิง แต่ไม่มีนักโทษหลบหนีออกไปได้แต่อย่างใด
ปัวราน นาเซมี นักสิทธิมนุษยชนในอิหร่าน กล่าวกับ วีโอเอ ภาคภาษาเปอร์เซีย ว่า เจ้าหน้าที่ในเรือนจำเอวินได้ยิงปืนใส่นักโทษหลายคนที่กำลังพยายามหนีเปลวไฟและควันหนาทึบ ในขณะที่ไฟกำลังโหมลุกไหม้เรือนจำดังกล่าว และยืนยันว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงนั้นยังไม่มีใครทราบเนื่องจากยังไม่มีใครสามารถเข้าไปในโรงพยาบาลที่มีการคุ้มกันอย่างหนาแน่นได้ ขณะที่นักโทษจำนวนมากยังคงไม่ได้ติดต่อครอบครัวของพวกเขา
สื่อของทางการอิหร่าน IRNA รายงานอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง และผู้ว่าการกรุงเตหะรานว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการต่อสู้ระหว่างนักโทษกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ โดยนักโทษได้จุดไฟเผาโกดังเย็บผ้าและเก็บเครื่องแบบของบรรดาเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม โพสต์ต่าง ๆ ในสื่อสังคมออนไลน์มีความเห็นที่ขัดแย้งกับคำให้การของเจ้าหน้าที่ เช่นอดีตนักโทษที่เรือนจำเอวินผู้หนึ่งบอกว่า ปกติแล้วโกดังจะปิดเมื่อพระอาทิตย์ตกดินและนักโทษจะถูกนำตัวกลับเข้าห้องขัง จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีนักโทษออกมาก่อเหตุวางเพลิงในช่วงเวลากลางคืน
เมื่อวันอาทิตย์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีแถลงการณ์ว่า กำลังติดตามรายงานเร่งด่วนจากเรือนจำเอวิน และกำลังติดต่อกับรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในอิหร่าน "อิหร่านต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความปลอดภัยของพลเมืองอเมริกันที่ถูกจับกุมอย่างไม่ถูกต้องในอิหร่าน ซึ่งควรได้รับการปล่อยตัวทันที"
ทั้งนี้ เรือนจำเอวิน คุมขังนักโทษในข้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคง รวมถึงพลเมืองสองสัญชาติและผู้ที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลชาติตะวันตก ซึ่งอิหร่านมักใช้คนเหล่านี้ในการต่อรองระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำแห่งนี้ล่วงละเมิดต่อนักโทษจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน การประท้วงในอิหร่านยังคงดำเนินต่อไปเป็นสัปดาห์ที่ห้า โดยองค์กรสิทธิมนุษยชน HRANA ในสหรัฐฯ เชื่อว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่อิหร่านแล้วกว่า 230 คน ในจำนวนนี้ 32 คนเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี
ทางด้านผู้นำรัฐบาลอิหร่านออกมากล่าวหาว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศนั้นมีชาติตะวันตกอยู่เบื้องหลัง แต่มิได้เปิดเผยหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหานี้แต่อย่างใด
ในวันจันทร์ สหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอิหร่าน 11 คน สืบเนื่องจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยอายัดทรัพย์สินของบุคคล 11 คน รวมถึงหัวหน้าตำรวจศีลธรรมอิหร่านสองคน และรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารของอิหร่าน อิซซา ซาเลพัวร์ จากการมีส่วนร่วมในการสั่งปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตขณะที่เกิดการประท้วง โดยทั้งหมดถูกสั่งห้ามเดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรปด้วย
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี