อิหร่านและซาอุดิอาระเบียบรรลุข้อตกลงกันในวันศุกร์ที่จะกลับมาจัดตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้งและเปิดสถานทูตของกันและกัน หลังเกิดความตึงเครียดระหว่างทั้งสองมาหลายปี ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
ข้อตกลงดังกล่าวที่มีการลงนามที่กรุงปักกิ่งในสัปดาห์นี้ ณ ที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ถือเป็นสัญญาณแห่งชัยชนะทางการทูตครั้งใหญ่ของจีน ในขณะที่ ประเทศรัฐอ่าวอาหรับกำลังมองว่า สหรัฐฯ นั้นอยู่ในช่วงค่อย ๆ ถอยห่างออกจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางอยู่
การบรรลุข้อตกลงนี้ยังเกิดขึ้นขณะที่ อิหร่านและซาอุดิอาระเบียพยายามหาทางยุติสงครามในเยเมนที่ดำเนินมานานหลายปีและทั้งสองประเทศต่างมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากด้วย
หลังการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว สองประเทศยังออกแถลงการณ์ร่วมกับจีนซึ่งน่าจะมีบทบาทเป็นคนกลางช่วยเจรจาด้วย แต่สื่อทางการจีนก็ไม่ได้ออกรายงานข่าวเรื่องนี้ออกมาทันที
ขณะเดียวกัน สื่อทางการอิหร่านเผยแพร่ภาพและคลิปวิดีโอที่มีการบรรยายว่า ถูกบันทึกไว้ระหว่างการประชุมที่จีน โดยมี อาลี ชามคานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน และ มูซาอัด บิน โมฮัมเหมด อัล-ไอบาน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติซาอุฯ และ หวัง อี้ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีจีน ปรากฏตัวร่วมกัน
ทั้งนี้แถลงการณ์ร่วมที่ออกมาหลังการลงนามมีเนื้อหาเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศกลับมาเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันและให้มีการกลับมาเปิดสถานทูตของตนในอีกประเทศ “ภายในช่วงเวลาอย่างมากไม่เกินสองเดือน”
ในคลิปวิดีโอที่สื่อทางการอิหร่านเผยแพร่ มีภาพขณะที่ หวัง อี้ กล่าว “แสดงความยินดีอย่างสุดใจ” ต่อทั้งสองประเทศด้วย พร้อมกล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายได้แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ .... จีนสนับสนุนข้อตกลงนี้อย่างเต็มที่”
เมื่อไม่นานมานี้ จีนซึ่งเป็นลูกค้าน้ำมันรายใหญ่ของซาอุฯ เพิ่งต้อนรับ ประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี แห่งอิหร่าน ที่มาเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ขณะที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเพิ่งได้รับการยืนยันการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 เป็นระยะเวลา 5 ปีในวันศุกร์ เดินทางเยือนกรุงริยาดเมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว เพื่อร่วมประชุมกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของจีนแหล่งหนึ่ง
และหลังอิหร่านรายงานข่าวนี้ออกมา สื่อทางการซาอุดิอาระเบียเผยแพร่ข่าวเรื่องนี้และแถลงการณ์ร่วมที่ออกมาเช่นกัน
ความสัมพันธ์ของอิหร่านและซาอุดิอาระเบียอยู่ในภาวะตึงเครียดมาหลายปี หลังผู้ประท้วงชาวอิหร่านบุกเข้าไปในที่ทำการด้านการทูตของซาอุดิอาระเบียในปี ค.ศ. 2016 เพื่อประท้วงคำตัดสินของซาอุฯ นำมาซึ่งการประหารชีวิตครูสอนศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์คนสำคัญรายหนึ่ง
สถานการณ์กลับตึงเครียดยิ่งขึ้น หลังอิหร่านตกเป็นเป้าการกล่าวโทษว่า อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โจมตีหลายครั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งรวมถึง การโจมตีอุตสาหกรรมน้ำมันของซาอุฯ ในปี ค.ศ. 2019 ที่ส่งผลให้การผลิตน้ำมันของประเทศแห่งนี้หดหายไปครึ่งหนึ่งในช่วงหนึ่ง
- ที่มา: เอพี