ในอดีตผู้นำเผด็จการจะเข้าควบคุมสถานีวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อต้องการช่วงชิงความได้เปรียบด้านข่าวสาร แต่ในปัจจุบันเทคนิคที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ คือการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในเมียนมา เมื่อทหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี และเมื่อพิจารณาเหตุการณ์ในประเทศต่าๆ เช่น ยูกันดา เอธิโอเปีย และอินเดียก็มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ
อัลป์ โทเคอร์ ผู้ก่อตั้งองค์กร Netblocks ซึ่งเก็บข้อมูลการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตกล่าวกับสำนักข่าวเอพี (The Associated Press) ว่า การดำเนินการดังกล่าวโดยรัฐเกิดขึ้นบ่อย แต่ไม่ค่อยตกเป็นข่าว
เมื่อปีที่แล้วมีการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตครั้งใหญ่ทั้งหมด 93 ครั้ง ใน 21 ประเทศ ตามข้อมูลของ Top10VPN ซึ่งเป็นองค์กรวิเคราะห์และวิจัยด้านดิจิทัลที่อังกฤษ
เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่สวนทางกับประเทศตะวันตกที่มีพยายามคานอิทธิพลของบริษัทโซเชียลมีเดีย จากการที่บริษัทเหล่านี้ เล่นบทกรองข้อมูลที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสังคม โดยบทบาทดังกล่าวของบริษัทสื่อออนไลน์เหล่านี้ ทำให้เกิดความกังวลถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
สำหรับประเทศที่รัฐเป็นผู้ปิดกั้นข้อมูล สำนักข่าวเอพีรายงานถึงสถานการณ์ต่างๆดังนี้
เมียนมา
สัญญาณอินเตอร์เน็ตในเมียนมาถูกตัดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เมื่อสุดสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งดูเหมือนว่า เป็นความพยายามสะกัดแผนนัดรวมตัวประท้วงของประชาชนหลังจากที่กองทัพยึดอำนาจรัฐบาลของนางซูจี แต่ในเวลาต่อมา ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ประชาชนมีอินเตอร์เน็ตกลับมาใช้ได้อีกครั้งบนโทรศัพท์
บริษัทสัญชาตินอร์เวย์ “เทเลนอร์” ผู้ให้บริหารเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในเมียนมา กล่าวว่า รัฐบาลเมียนมาสั่งผู้ประกอบการเอกชนว่าต้องตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพราะเกิดการเผยเเพร่ข่าวเท็จ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
ทั้งนี้การตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องใหม่ของเมียนมา รัฐบาลเคยตัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ในเเคว้นยะไข่ เพราะต้องการสร้างความยากลำบากต่อปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธที่ท้าทายรัฐบาลกลาง
อินเตอร์เน็ตในบริเวณดังกล่าวถูกปิดกั้นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนสองปีก่อน และเพิ่มกลับมาใช้ได้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์
เอธิโอเปีย
พื้นที่การสู้รบจากความขัดเเย้งในเขตทิเกรย์ของเอธิโอเปียไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน สำนักข่าวเอพีรายงานว่าเขตดังกล่าวน่าจะยังคงไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ต่อไปในระยะนี้ และนั่นทำให้ประชาคมโลกไม่สามารถทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพลรือนจากการสู้รบได้
ยูกันดา
รัฐบาลยูกันดาจำกัดการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊กและยูทิวบ์ ก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดี 14 มกราคม และหนึ่งวันก่อนการเลือกตั้ง ประชาชนไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตใช้ทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่กล่าวว่าที่ต้องตัดสัญญาณเพราะต้องการป้องกันการประท้วงที่รุนแรงจากผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล
เบลารุส
สัญญาณอินเตอร์เน็ตของประเทศถูกตัดเป็นเวลา 61 ชั่วโมง หลังการเลือตั้งวันที่ 9 สิงหาคม ถือเป็นการปิดการติดต่อสื่สารทางอินเตอร์เน็ตครั้งเเรกในยุโรป
ชัยชนะของการเลือกตั้งตกเป็นของประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเผด็จการของประเทศ และการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่ามีทุจริตเกิดขึ้น โดยประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วง
เป็นเวลาหลายเดือนเเล้วที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตยังคงไม่ปกติ ในเบลารุศโดยจะเกิดปัญหาติดขัดเมื่อมีการเดินขบวนประท้วงในช่วงสุดสัปดาห์
อินเดีย
การปิดระบบอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย อย่างอินเดียเช่นกัน ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ
หน่วยงานตรวจสอบการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตแห่งหนึ่งระบุว่ารัฐบาลของอินเดียสั่งตัดการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตระดับภูมิภาคหลายครั้ง โดยเเคว้นเเคชเมียร์ ที่เกิดปัญหาความขัดเเย้ง ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ไร้สายความเร็วสูงยาวนานถึง 18 เดือน ก่อนเพิ่งกลับมาใช้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
นักวิเคราะห์กล่าวว่าเทคนิคการควบคุมการสื่อสารของรัฐบาลอินเดียยังเห็นได้ในการรัมือกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เช่นกลุ่มเกษตรกรผู้ประท้วงท้าทายอำนาจนายกรัฐมนตรีโมดิ ในปีนี้
ดาร์เรล เวสต์ แห่งสถาบัน Brookings Institution กล่าวว่า การที่ประเทศประชาธิปไตยอย่างเช่นอินเดียปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ถือเป็นตัวอย่างที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ว่าประเทศอื่นๆอาจใช้วิธีเดียวกันนี้ต่อประชาชนของตน