เหตุการณ์ความรุนแรงในสัปดาห์ที่แล้วใน Tunisia ที่ผู้ฝักใฝ่ความคิดสุดโต่งสังหารนักท่องเที่ยวเกือบ 40 คน การวางระเบิดสุเหร่าใน Kuwait โดยผู้วางระเบิดพลีชีพที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 27 คน และย้อนหลังไปถึงการสังหารพนักงานเจ้าหน้าที่ของนิตยสาร Charlie Hebdo ในกรุงปารีสเมื่อเดือนมกราคม เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของอิทธิพลโน้มน้าวความคิดของกลุ่ม ‘hate groups’
Rabbi Abraham Cooper ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชาวยิวของศูนย์ Wiesenthal และได้ติดตามเฝ้าดูกลุ่มเหล่านี้ออนไลน์ บอกว่ามีข้อความและภาพฉลองความรุนแรงที่เกิดตามที่ต่างๆ เหล่านั้นทางอินเทอร์เน็ต และทางสื่อสังคมที่กลุ่มเหล่านี้ใช้
Rabbi Cooper บอกว่ากลุ่มเหล่านี้ รวมทั้งกลุ่มรัฐอิสลามหรือ IS มีความคล่องแคล่วว่องไวในการใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าทางอินเทอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่แนวคิดของพวกตน รวมทั้งยังเจาะเข้าหากลุ่มคนที่ต้องการได้โดยเฉาะเจาะจงด้วย
ที่สหรัฐฯ กลุ่ม ‘hate groups’ ก็มีบทบาทเป็นอย่างมากทางอินเทอร์เน็ต
Dylann Roof มือปืนที่สังหารชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา 9 คนในโบสถ์ที่เมือง Charleston รัฐ South Carolina เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดความบันดาลใจให้กระทำการดังกล่าว หลังซึมทราบอุดมการณ์ของกลุ่ม ‘hate groups’ คนผิวขาวที่รังเกียจคนผิวสีอื่นๆ
Tim Zaal อดีตสมาชิกกลุ่มนาซีใหม่ ซึ่งเวลานี้หันมาร่วมมือทำงานกับศูนย์ Wiesenthal บอกว่า ไม่ประหลาดใจกับแนวคิดของกลุ่มเหล่านี้ เขาจัดอันดับเป้าหมายความเกลียดชังของกลุ่มเหล่านี้ไว้ว่า อันดับแรกคือ ขบวนการคืนสู่มาตุภูมิของชาวยิว หรือ Zionism อันดับที่สองคือรัฐบาลสหรัฐ ตามด้วยบริษัทข้ามชาติ และว่า อินเทอร์เน็ตช่วยให้การแพร่ความเกลียดชังเป็นไปได้รวดเร็วมากขึ้น
Rabbi Cooper บอกว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต ทำให้คนเหล่านี้มีความรู้สึกว่ามีพลังอำนาจ มีส่วนร่วมในชุมชน ไม่โดดเดี่ยวเดียวดาย
อย่างไรก็ตาม Tim Zaal ให้ความเห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้จะต้องมีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ซึ่งรวมถึงตัวเขาเอง และผู้ที่เคยมีความคิดเห็นสุดโต่งมาแล้วในอดีต
Rabbi Cooper ให้ความเห็นส่งท้ายว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่รองรับแนวคิดเหล่านี้ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และไม่ควรยอมให้มีการโพสต์ข้อความที่แสดงความรังเกียจเดียดฉันท์อย่างสุดขั้วอีกต่อไปด้วย