สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ของอินโดนีเซียได้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ท่ามกลางความกังขาของประชาชน
ราฟฟิ อาห์หมัด นักร้องนักแสดงวัย 33 ปี ได้รับวัคซีนเคียงข้างกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลกนี้ เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนเป็นวันแรก โดยอาห์หมัดเผยแพร่คลิปวิดีโอที่เขารับวัคซีนพร้อมข้อความ “ขอบคุณพระเจ้าสำหรับวัคซีน อย่ากลัววัคซีน” ทางบัญชีอินสตาแกรมของเขาที่มีผู้ติดตามเกือบ 50 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ราฟฟิกลับถูกกระแสตีกลับ หลังมีภาพของเขาเข้าร่วมงานสังสรรค์เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังรับวัคซีนดังกล่าว โดยเขาไม่สวมหน้ากากและสังสรรค์กับเพื่อนฝูงโดยไม่รักษาระยะห่างทางสังคม โดยมีกระแสเรียกร้องให้เขาทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีขึ้น ทั้งนี้ วัคซีนต้านโควิด-19 ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้รับวัคซีนทันทีทีได้รับ โดยตำรวจกำลังทำการสอบสวนว่าราฟฟิฝ่าฝืนกฎหรือไม่ ส่วนตัวเขาเองก็ได้ประกาศขอโทษในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ การตัดสินใจว่าบุคคลกลุ่มใดควรได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ถือเป็นความท้าทายที่ทั่วโลกเผชิญ เนื่องจากวัคซีนยังมีในปริมาณจำกัด โดยหลายประเทศเลือกฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุก่อนเป็นลำดับแรก
ซิทิ นาเดีย ทาร์มิซิ เจ้าหน้าที่อาุวโสกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ระบุว่า ทางการตัดสินใจให้อินฟลูเอนเซอร์ได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเกือบ 1.5 ล้านคน เป็นกลยุทธ์ทางการสื่อสารของรัฐบาลที่คิดมาอย่างรอบคอบแล้ว
อย่างไรก็ตาม นาเดียก็ย้ำว่า ผู้รับวัคซีนจะต้องทำตามกฎระเบียบด้านสุขภาพและไม่ปล่อยปะละเลยกับกฎดังกล่าว
อินโดนีเซียเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 869,000 คน เสียชีวิตกว่า 25,000 คน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ชาวอินโดนีเซียยังคงมีความกังขาถึงความปลอดภัยและประสิทธิผฃของวัคซีนว่า วัคซีนจะเป็นไปตามหลักฮาลาลของศาสนาอิสลามหรือไม่
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย
กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียไม่ได้ระบุว่า จะมีอินฟลูเอนเซอร์กี่คนที่ได้รับวัคซีนรอบแรกนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับวัคซีนในวันพฤหัสบดีทีมีทั้ง “แอเรียล” นักร้องนำวงโนอาห์ และริซา ซารัสวาติ นักร้องและนักแต่งเพลง
อาห์ยานิ รักซานาการา หัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุขประจำนครบันดุง กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ศิลปินเหล่านี้จะช่วย “ถ่ายทอดข้อความและอิทธิผลในเชิงบวก” เกี่ยวกับวัคซีนไปยังสาธารณะ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้วิจารณ์นโยบายดังกล่าว เช่น เออร์มา ฮิดายานา ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการข้อมูลโควิด LaporCOVID-19 ที่ระบุว่า รัฐบาลไม่มีความสม่ำเสมอในการจัดลำดับความสำคัญของผู้ได้รับวัคซีน หรือซูไบไร เจอร์บัน จากสมาคมการแพทย์อินโดนีเซีย ที่ระบุว่า การนำอินฟลูอินเซอร์มารับวัคซีนเป็นคนแรกๆ จะได้ผลก็ต่อเมื่อมีการสรุปข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนและโรคโควิด-19 ให้กับกลุ่มบุคคลนี้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจเมื่อเดือนที่แล้วระบุว่า มีชาวอินโดนีเซียเพียง 37 เปอร์เซ็นต์ที่ยินดีรับวัคซีน 40 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าจะตัดสินใจก่อน และ 17 เปอร์เซ็นต์จะไม่รับวัคซีน
แพทย์บางส่วนยังตั้งข้อกังขาถึงการใช้วัคซีนซิโนแวค (SinoVac) ของจีนในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเบื้องต้น โดยผลการทดลองวัคซีนดังกล่าวในบราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี แสดงถึงประสิทธิผลของวัคซีนที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 50-91 เปอร์เซ็นต์
สภาอิสลามของอินโดนีเซียได้ประกาศให้วัคซีนต้านโควิด-19 เป็นไปตามหลักฮาลาล เพื่อดึงดูดให้ประชาชนหันมารับวัคซีนกันมากขึ้นด้วย