ผู้หญิงชาวไอซ์แลนด์ทั่วประเทศ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีหญิงคาตริน ยาคอปสโตว์ทีร์ รวมตัวประท้วงเป็นเวลา 24 ชั่วโมงในวันอังคาร เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมด้านเพศสภาพ
บรรยากาศที่ไอซ์แลนด์เมื่อวันอังคาร โรงเรียนและห้องสมุดทั่วประเทศปิดทำการหรือเปิดให้บริการในเวลาจำกัด เนื่องจากแรงงานหญิงในประเทศประท้วงหยุดงาน ขณะที่โรงพยาบาลรับเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีผู้ชุมนุมราว 70,000-100,000 คนในปีนี้
นายกฯ หญิงไอซ์แลนด์ วัย 47 ปี ประกาศว่าจะไม่มาทำงานในวันอังคาร เพื่อร่วมการประท้วงเรียกร้องความเท่าเทียมด้านเพศสภาพ และเธอเคยกล่าวว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมระหว่างชายหญิงเป็นไปอย่างล่าช้าเกินไปทั้งในและต่างประเทศ โดยกล่าวในสถานีวิทยุ Ras 1 ในไอซ์แลนด์ว่า “เมื่อมองดูทั่วโลกแล้ว อาจต้องใช้เวลาถึง 300 ปีกว่าจะบรรลุเป้าหมายความเท่าเทียมกันทางเพศ”
การประท้วงครั้งนี้ เรียกร้องให้มีการปิดช่องว่างทางรายได้ และการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง รวมทั้งการเน้นย้ำถึงงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างเช่น การเลี้ยงดูบุตรหลาน ที่มักตกเป็นภาระของผู้หญิงเป็นหลัก
ผู้จัดการชุมนุมในไอซ์แลนด์ ภายใต้สโลแกน “นี่เรียกว่าความเท่าเทียมแล้วหรือ?” มีทั้งผู้หญิงไอซ์แลนด์และผู้ที่ไม่ระบุเพศสภาพเข้าร่วมการชุมนุมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 1 วันเต็ม ซึ่งมีการประท้วงกันมาเกือบ 50 ปีแล้ว โดยในปี 1975 90% ของผู้หญิงทั่วไอซ์แลนด์ต่างหยุดงานเพื่อมาประท้วงมาแล้ว
ธอร์เกอร์ดูร์ คาตริน กุนนาร์สโตว์ทีร์ สมาชิกสภาไอซ์แลนด์ วัย 58 ปี กล่าวในการชุมนุมครั้งนี้ว่า “เราเฉลิมฉลอง .. ให้กับบรรพบุรุษของเรา ต้นแบบของเราในด้านความเท่าเทียม” และว่า “เราต้องการความเท่าเทียม เราต้องการความยุติธรรม เราต้องการเสรีภาพ นี่คือสารจากไอซ์แลนด์ เราต้องยืนหยัดไปด้วยกัน”
ด้วยประชากรในประเทศไม่ถึง 400,000 คน ไอซ์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศหัวก้าวหน้าในแง่ของความเท่าเทียมทางเพศสภาพ และไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศเดียวที่ปิดช่องว่างทางเพศได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ต่อเนื่อง 14 ปีซ้อน อ้างอิงจากดัชนีช่องว่างระหว่างชายและหญิงของ World Economic Forum
อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมและสาขาอาชีพ ผู้หญิงไอซ์แลนด์ยังทำรายได้น้อยกว่าผู้ชายอย่างน้อย 20% อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติไอซ์แลนด์ ขณะที่การศึกษาของ University of Iceland พบว่า 40% ของผู้หญิงไอซ์แลนด์เผชิญกับการใช้ความรุนแรงที่มีปัจจัยมาจากเพศสภาพในช่วงชีวิตของพวกเขา
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น