“ไม่มีใครให้คำแนะนำฉันในการเป็นนักเขียนได้ ถ้าฉันอยากทำงานเก็บไส้เดือนหรือเป็นสาวโรงงาน พ่อแม่ฉันคงแนะนำเส้นสายให้ได้บ้าง”
จากเด็กหญิงเชื้อสายลาวที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยจังหวัดหนองคาย ประเทศไทย ก่อนที่จะมาเติบโต และได้รับการศึกษาในประเทศแคนาดา คุณสุวรรณคำ ธรรมวงศา นักเขียนชาวแคนาดาเชื้อสายลาว วัย 42 ปี นำพาวรรณกรรมที่สะท้อนเรื่องราวของผู้ลี้ภัย คว้ารางวัล Giller Prize รางวัลอันทรงเกียรติสำหรับนักเขียนในประเทศแคนาดา ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ชื่อว่า “How to Pronounce Knife”
“ชื่อหนังสือเล่มนี้ ได้แรงบันดาลใจจากเมื่อตอนที่เป็นเด็ก ด้วยความไม่รู้ คำว่า Knife ในภาษาอังกฤษจะต้องออกเสียงอย่างไร ฉันได้ถามคุณพ่อ และเขาสอนให้ออกเสียงว่า คา-ไนฟ”
หลังจากนั้นเธอนำการออกเสียงดังกล่าวไปโต้เถียงกับคุณครูที่โรงเรียน เธอยืนกรานที่จะออกเสียงว่า คา-ไนฟ เพราะคุณพ่อสอนเธอมา
“มันไม่ใช่เรื่องผิดถูกของภาษา แต่จริงๆ แล้วฉันต้องการปกป้องคุณพ่อ และอยากให้คุณพ่อเป็นฝ่ายที่ถูก”
คุณสุวรรณคำ เป็นนักเขียนและอาจารย์ด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่มหาวิทยาลัย Wilfrid Laurier University ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา
“ดิฉันจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต เอกวรรณคดีอังกฤษ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับ ปรัชญาสาขาญาณวิทยา (Epistemology) สาขาอภิปรัชญา (Metaphysic) รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับด้านภูมิศาสตร์ (Geography)”
เธอเล่าให้วีโอเอฟังว่า หลังจากเธอจบปริญาโทด้านศิลปศาสตร์ (Master of Fine Arts) ได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับการเป็นที่ปรึกษาประมาณ 15 ปี ก่อนที่จะสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา เธอได้เขียนหนังสือมาแล้วรวมทั้งสิ้น 5 เล่ม
นักเขียนชาวแคนาดาเชื้อสายลาว เล่าว่าเนื้อหาที่เธอหยิบมาจรดปลายปากกาใน “How to Pronounce Knife” เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับ ครอบครัว ความรัก การทำมาหากิน และที่สำคัญความสนุกของภาษา ที่บางครั้งก็สามารถสร้างความขบขัน เรื่องสั้นของเธออิงอาชีพที่หลายคนไม่คุ้นเคย อย่างเช่น “Picking Worms” หนึ่งใน 14 เรื่องสั้นที่เธอเล่าในหนังสือเล่มนี้ ได้พูดถึงอาชีพที่คนลาวผู้ลี้ภัยมายังประเทศสหรัฐฯ และประเทศแคนาดานิยมทำในอดีต คือการจับไส้เดือน หรืออีกเรื่อง “Paris” พูดถึงคนเชื้อสายลาวที่ทำงานในโรงงานชำแหละไก่ โดยทำหน้าที่เป็นคนถอนขนไก่
“ไม่มีใครให้คำแนะนำฉันในการเป็นนักเขียนได้ ถ้าฉันอยากทำงานเก็บไส้เดือนหรือเป็นสาวโรงงาน พ่อแม่ฉันคงแนะนำเส้นสายให้ได้บ้าง”
นักเขียนเจ้าของรางวัล Giller Prize เล่าถึงเส้นทางการเป็นนักเขียนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เธอเรียนรู้ผ่านหนังสือพิมพ์ ว่าถ้าอยากเป็นนักเขียนต้องเรียนสาขาไหน โรงเรียนใด ก่อนที่เธอจะเขียนหนังสือและวานให้ร้านค้า รวมถึงห้องสมุดต่างๆ ช่วยซื้อและนำไปจัดวางไว้
“มันไม่ใช่เรื่องผิดถูกของภาษา แต่จริงๆ แล้วฉันต้องการปกป้องคุณพ่อ และอยากให้คุณพ่อเป็นฝ่ายที่ถูก”
หลังจากนั้น สำนักพิมพ์มาค้นพบหนังสือของเธอ และติดต่อขอเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย
รางวัล Giller Prize มีประวัติมายาวนานราว 26 ปี ริเริ่มโดยนักธุรกิจชาวแคนาดาที่ชื่อ Jack Rabinovicth ที่ต้องการมอบรางวัลสำหรับงานเขียนที่มีความสร้างสรรค์เพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยาของเขา Doris Giller ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยได้มอบรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 และในการประกวดครั้งล่าสุดนี้ มีงานวรรณกรรมที่เข้าร่วมจำนวน 118 ชิ้น ก่อนที่ “How to Pronounce Knife” ของคุณสุวรรณคำจะได้รับเลือก พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 1 แสนดอลลาร์แคนาดา หรือราว 78,185 ดอลลาร์สหรัฐฯ
คุณสุวรรณคำเล่าว่า “ไม่ใช่ว่าอยากจะเอาเรื่องพวกนี้กลับมาเพื่อตัวของฉันเท่านั้น แต่อยากให้ผู้อ่านทุกคนได้รู้จักกับเรื่องราวเหล่านี้...เราแทบจะไม่ได้เห็นคนลาวผ่านงานวรรณกรรม”
แม้จะไม่เคยเดินทางไปประเทศลาว แต่จากประสบการณ์ที่เธอเติบโตมาในครอบครัวผู้ลี้ภัย ที่มีความเป็นอยู่แบบขนบคนลาว งานเขียนของคุณสุวรรณคำ ได้ซึมซับและถ่ายทอดความเป็นอยู่ของคนเชื้อสายลาวในบริบทสังคมตะวันตก ที่เรามักจะไม่ได้เห็นผ่านวรรณกรรมงานเขียนภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะที่ถูกยอมรับในระดับนักเขียนมืออาชีพ