เหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมในรัฐเท็กซัสที่คร่าชีวิตนักเรียน 19 คนและครูสองคน ทำให้มีกระแสเรียกร้องกฎหมายควบคุมความปลอดภัยของปืนในสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยสหรัฐฯ ถูกเปรียบเทียบกับประเทศรายได้สูงหลายประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ มีจำนวนอาวุธปืนมากกว่าจำนวนประชากร และมีกฎหมายที่เอื้อต่อการครอบครองปืนมากกว่า
ข้อมูลจากกลุ่มวิจัยไม่แสวงหาผลกำไร Gun Violence Archive ระบุว่า ในปีนี้ มีเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ แล้วกว่า 200 ครั้ง ขณะที่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า เมื่อปี ค.ศ. 2020 มีผู้เสียชีวิตจากปืนรวมทั้งการฆ่าตัวตายในสหรัฐฯ กว่า 45,000 คน
ที่ผ่านมา มีการเสนอร่างกฎหมายควบคุมปืนอย่างเข้มงวดในรัฐสภาอเมริกัน หลังเกิดเหตุกราดยิงในแต่ละครั้ง แต่ร่างกฎหมายเหล่านี้มักถุกตีตกโดยนักการเมืองจากพรรครีพับลิกัน นักการเมืองอิสระ และนักการเมืองสายกลางบางส่วนจากพรรคเดโมแครต
สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รวบรวมกฎหมายที่บางประเทศออกมาหลังเกิดเหตุกราดยิง
แคนาดา
แคนาดาออกกฎหมายกำหนดให้มีการอบรมหลักสูตรความปลอดภัย การตรวจประวัติ และเพิ่มบทลงโทษอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการใช้ปืนบางประเภท โดยมีการออกกฎหมายหลังเกิดเหตุกราดยิงที่วิทยาลัย École Polytechnique ในเมืองมอนทรีออล เป็นเหตุให้มีนักศึกษาหญิง 14 คน เสียชีวิต เมื่อปี ค.ศ. 1989
ต่อมาในปี ค.ศ. 2020 เกิดเหตุกราดยิงในรัฐโนวาสโกเชีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน หลังเกิดเหตุครั้งนี้ แคนาดาสั่งห้ามครอบครองอาวุธปืนแบบจู่โจมและส่วนประกอบกว่า 1,500 ประเภท และจำกัดประสิทธิภาพการทำลายของกระสุนปืน
บทวิเคราะห์จากสถาบัน Institute for Health Metrics and Evaluation หรือ IHME ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า อัตราการเกิดเหตุฆาตกรรมจากปืนในแคนาดาอยู่ที่ 0.5 คนต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับอัตราของสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ 4.12 คนต่อประชากร 100,000 คน
ออสเตรเลีย
หลังเกิดเหตุกราดยิงที่เมืองพอร์ท อาร์เธอร์ รัฐแทสเมเนีย จนมีผู้เสียชีวิต 35 คน เมื่อปี ค.ศ. 1996 ออสเตรเลียสั่งห้ามครอบครองปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ และปืนลูกซองแบบ “ปั๊มแอ็คชั่น” ทุกประเภท ปืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหลายพันกระบอกถูกนำมามอบให้ทางรัฐภายใต้โครงการนิรโทษกรรมผู้ครอบครองอาวุธปืนผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ผู้ครอบครองปืนที่ขึ้นทะเบียนต้องเข้าอบรมหลักสูตรความปลอดภัย
บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์จากข้อมูลของสำนักงานสถิติของออสเตรเลีย ระบุว่า เมื่อปี ค.ศ. 2014 โอกาสที่จะถูกอาวุธปืนสังหารในออสเตรเลียลดลงเหลือ 0.15 คน ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลง 72% เมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อปีค.ศ. 2014 ที่อยู่ที่ 0.54 คนต่อประชากร 100,000 คน
อังกฤษ
เหตุกราดยิงสังหารเด็กนักเรียน 16 คนและครูหนึ่งคนในเมืองดันเบลนด์ของสกอตแลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1996 จุดชนวนให้มีการรณรงค์ครั้งใหญ่จนอังกฤษออกกฎหมายควบคุมปืนที่เข้มงวดที่สุดฉบับหนึ่งของโลก โดยภายในสองปีหลังจากนั้น อังกฤษออกกฎหมายห้ามพลเมืองครอบครองปืนพก
บทวิเคราะห์ของสถาบัน IHME เมื่อปีที่แล้วระบุว่า อัตราการเกิดเหตุฆาตกรรมจากอาวุธปืนในอังกฤษอยู่ที่ 0.04 คนต่อประชากร 100,000 คน
นิวซีแลนด์
ผู้นำนิวซีแลนด์ประกาศห้ามจำหน่ายอาวุธจู่โจมไม่กี่วันหลังเกิดเหตุกราดยิงมัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ช จนมีผู้เสียชีวิต 50 คน เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 หลังจากนั้นไม่นาน รัฐสภาเห็นชอบให้มีการห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือและห้ามใช้อาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติ ส่วนประกอบดัดแปลงอาวุธปืนให้กลายเป็นอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติ ซองปืนที่บรรจุลูกปืนได้ระดับหนึ่ง และปืนสั้นบางประเภท
ทั้งนี้ นิวซีแลนด์มีเหตุฆาตกรรมจากอาวุธปืนต่ำ โดยเมื่อปี ค.ศ. 2018 เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าว 12 ครั้ง และเมื่อปีที่แล้ว เกิดเหตุ 11 ครั้ง
- ที่มา: รอยเตอร์