ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยาต้านฮิสตามีนแก้อาการแพ้ใช้บำบัดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ผลและราคาถูก


Pills for Hepatitis C treatment
Pills for Hepatitis C treatment

ทีมนักวิจัยอเมริกันค้นพบว่ายาต้านฮิสตามีนสามารถบำบัดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ผลดี

ยาคลอร์ไซคลิซีน (Chlorcyclizine HCL) เป็นยาต้านฮิสตามีนที่คิดค้นขึ้นราว 50 ปีที่แล้ว เพื่อใช้บำบัดอาการแพ้

แต่ทีมนักวิจัยที่ U.S. National Institute of Health แห่งสหรัฐได้ค้นพบว่ายาแก้แพ้ชนิดนี้และยาที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกันอาจจะมีประสิทธิภาพในการบำบัดการติดเชื้อไวรัสตับอับเสบชนิดซีได้ผลดี

ยาคลอร์ไซคลิซีนและยาในกลุ่มเดียวกัน บำบัดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ด้วยการบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าไปก่อให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์

คุณ Jake Liang ผู้อำนวยการฝ่ายโรคตับที่สถาบันโรคเบาหวาน โรคในระบบย่อยอาหารและโรคไตแห่งชาติ (NIH’s National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases) ที่ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงวอชิงตัน กล่าวว่าในช่วงของการติดเชื้อ เชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะแพร่เข้าไปในเซลล์ตัวใหม่ๆ ตลอดเวลา ทีมนักวิจัยคิดว่าหากป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ตัวใหม่ๆ หรือทำลายขั้นตอนการติดเชื้อได้สำเร็จ เซลล์ที่ติดเชื้อแล้วจะตายลงและไม่แพร่เชื้อต่อแก่เซลล์ข้างเคียง

เชื้อไวรัสตับอักเสบซี ติดต่อทางเพศสัมพันธ์และติดต่อผ่านทางเลือดที่ติดเชื้อ และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอาจจะเป็นสาเหตุของอาการตับล้มเหลว มะเร็งตับและอาการตับแข็ง มีคนหลายล้านคนทั่วโลกที่เป็นพาหะของโรคนี้และเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโรคนี้

คุณ Liang เน้นว่าปัจจุบันมีการบำบัดที่มีประสิทธิภาพหลายวิธีด้วยกัน แต่ยาต่างๆ ที่ใช้ในการรักษามีราคาแพงมาก มีอาการข้างเคียงของยาและเชื้อโรคเริ่มต่อต้านยาที่ใช้รักษา นอกจากนี้ยาบำบัดเหล่านี้ยังใช้ได้กับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์ HP เท่านั้น นี่ทำให้มีความจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาวิธีบำบัดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

ค่าบำบัดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่ใช้ในปัจจุบันอยู่ที่ราว 84,000 ดอลล่าร์สหรัฐสำหรับการบำบัดที่นาน 12 สัปดาห์ ซึ่งแพงมากเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยาคลอร์ไซคลิซีนที่ราคาเพียงเม็ดละ 50 เซ็นท์สหรัฐฯหรือราว 15 บาทเท่านั้น

ในขั้นต่อไป ทีมนักวิจัยวางแผนที่จะกำหนดให้ได้ว่าจะต้องใช้ยา คลอร์ไซคลิซีนในปริมาณเท่าใดในการบำบัดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

ผลการวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Science Translational Medicine

XS
SM
MD
LG